ชนิดย่อย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชนิดย่อย หรือ สปีชีส์ย่อย (อังกฤษ: subspecies, ย่อ: subsp. หรือ ssp.) ในการจำแนกทางชีววิทยาหมายถึง กลุ่มประชากรหนึ่งในสองกลุ่มหรือมากกว่าของสิ่งมีชีวิตชนิด (species) เดียวกัน ที่อาศัยอยู่ในเขตย่อยที่แตกต่างกัน (ภายในเขตกระจายพันธุ์ของชนิดนั้น) และมีความแตกต่างกันของลักษณะทางสัณฐานวิทยาปลีกย่อยต่างกัน[2][3] ซึ่งไม่สามารถจำแนกชนิดย่อยเดี่ยวออกเป็นชนิดใหม่ได้อย่างอิสระ ความแตกต่างของชนิดย่อยมักอยู่ที่ลวดลาย สีสัน หรือขนาดลำตัว อันเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่อยู่ที่แตกต่างกัน ตามระเบียบสากลของระบบการตั้งชื่อชนิดย่อยของสัตว์ใช้ชื่อตรีนาม ในทางพฤกษศาสตร์ กิณวิทยา และวิทยาแบคทีเรีย ใช้คำย่อ "subsp." หรือ "ssp." ตามด้วยชื่อชนิดย่อย
เสือดาวแอฟริกา (Panthera pardus pardus) เป็น ชนิดย่อยต้นแบบ (nominotypical subspecies) ของ เสือดาว ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นของแอฟริกา[1]
เสือโคร่งชวาและเสือโคร่งสุมาตรา (P. tigris sondaica) เป็นชนิดย่อยของเสือโคร่ง และเป็นสัตว์ประจำถิ่นของหมู่เกาะซุนดา[1]
สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งอาจได้รับการระบุว่าไม่มีชนิดย่อยเลย หรือมีอย่างน้อยสองชนิดย่อยซึ่งรวมทั้งที่สูญพันธุ์แล้ว
ในการจำแนกชนิดย่อย นักอนุกรมวิธานตัดสินใจจากเกณฑ์อย่างง่ายในการจำแนกกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันสองกลุ่มให้เป็นชนิดย่อยหรือชนิด คือความสามารถในการผสมข้ามพันธุ์ (หากผสมข้ามกันได้แม้ว่าทายาทตัวผู้บางตัวอาจเป็นหมัน อาจนับเป็นชนิดย่อย)[4] ในธรรมชาติชนิดย่อยจะไม่ผสมข้ามพันธุ์กันเนื่องจากความโดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์หรือการเลือกทางเพศ ความแตกต่างระหว่างชนิดย่อยมักจะแตกต่างกันน้อยกว่าความแตกต่างระหว่างชนิด
ระบบการตั้งชื่อ
สรุป
มุมมอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ในลำดับขั้นชนิด (สปีชีส์) ใช้การตั้งชื่อแบบทวินาม (binomial nomenclature) ซึ่งชื่อทวินามประกอบด้วยคำภาษาละตินสองคำ โดยคำแรกแสดงถึงชื่อสกุลและคำที่สองคือชื่อเฉพาะแสดงลักษณะเด่นของชนิด[5]
ในทางสัตววิทยา ภายใต้ระเบียบสากลของระบบการตั้งชื่อทางสัตววิทยา (International Code of Zoological Nomenclature (ICZN)) การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของชนิดย่อยในแบบ ชื่อตรีนาม (trinomen) ประกอบด้วยคำละตินสามคำคือ สองคำแรกจากชื่อทวินาม (binomen) ตามด้วยคำที่สามที่เป็นชื่อของชนิดย่อย[6] ตัวอย่างเช่น เสือดาว ทวินามคือ Panthera pardus และตรีนาม ได้แก่ Panthera pardus delacouri คือ เสือดาวอินโดจีน, Panthera pardus fusca คือ เสือดาวอินเดีย เป็นต้น ชื่อตรีนามเขียนด้วยตัวเอียงทั้งสามส่วน[7]
ในทางพฤกษศาสตร์และกิณวิทยา ตามระเบียบสากลของระบบการตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์ (ICBN) ชนิดย่อยเป็นหนึ่งในลำดับขั้นที่ต่ำกว่าชนิด ซึ่งได้แก่ ชนิดย่อย (subspecies), พันธุ์ (variety), พันธุ์ย่อย (subvariety), รูป (form) และรูปย่อย (subform) ตามลำดับ[8] ในการระบุชื่อเฉพาะชนิดย่อยต้องนำหน้าด้วย "subspecies" (ซึ่งสามารถย่อมาจาก "subsp." หรือ "ssp.") ตัวอย่างเช่น Schoenoplectus californicus subsp. tatora[9]
ในวิทยาแบคทีเรีย ลำดับขั้นเดียวที่ต่ำกว่าชนิดภายใต้ระบบชื่ออนุกรมวิธานคือ ชนิดย่อยเท่านั้น การระบุลำดับชั้นที่ย่อยลงมาจากชนิด (infrasubspecific taxon) มีความสำคัญอย่างยิ่งในวิทยาแบคทีเรียแต่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ในภาคผนวกที่ 10 ของระเบียบสากลของระบบการตั้งชื่อโพรแคริโอตได้ระบุคำแนะนำให้ชื่อที่ตีพิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 1992 ในลำดับของพันธุ์ (variety) ให้ถือเป็นชื่อของชนิดย่อย[10] และให้ใช้โครงสร้างของชื่อตามแบบชื่อชนิดย่อยในทางพฤกษศาสตร์ คือ มีคำย่อ "subsp." ตัวอย่างเช่น Bacillus subtilis subsp. spizizenii[11]
ชนิดย่อยต้นแบบ
เรียก "ชนิดย่อยต้นแบบ" (nominotypical subspecies) ทางสัตววิทยา และ เรียก "ชนิดย่อยอัตนาม" (subspecies autonyms) ในทางพฤกษศาสตร์
ในระบบการตั้งชื่อทางสัตววิทยา เมื่อชนิดถูกแบ่งออกเป็นชนิดย่อยประชากรที่ระบุชนิดไว้ครั้งแรกจะได้รับการระบุเป็น "ชนิดย่อยต้นแบบ" (nominotypical subspecies)[12] หรือ "ชนิดย่อยที่ถูกเสนอชื่อ (ครั้งแรก)" ซึ่งใช้คำที่สามเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อชนิด ตัวอย่างเช่น Lonchura punctulata punctulata (มักเรียกย่อว่า L.p. punctulata) เป็นชนิดย่อยต้นแบบของนกกระติ๊ดขี้หมู (Lonchura punctulata)
ในระบบการตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์ ชื่อของชนิดย่อยถูกสร้างขึ้นโดยใช้ซ้ำชื่อชนิดนั้น ซึ่งเรียก "อัตนาม" (autonym) และอนุกรมวิธานต่ำกว่าชนิดเป็น "ชนิดย่อยที่ชื่อถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ" (autonymous subspecies)[13]
กรณีที่กำกวม
เมื่อนักสัตววิทยาไม่เห็นด้วยกับการระบุชนิดของประชากรบางกลุ่มให้เป็นชนิดหรือชนิดย่อย ส่วนของชื่อชนิดอาจเขียนในวงเล็บ ตัวอย่างเช่น Larus (argentatus) smithsonianus (นกนางนวลแฮร์ริ่งอเมริกัน) ชื่อชนิดในวงเล็บหมายความถึง นักสัตววิทยาบางคนคิดว่าประชากรนกกลุ่มนี้เป็นชนิดย่อยของนกนางนวลแฮร์ริ่ง (Larus argentatus) จึงเรียกนกนางนวลแฮร์ริ่งอเมริกันว่า Larus argentatus smithsonianus ในขณะที่นักสัตววิทยาคนอื่นมองว่านกนางนวลแฮร์ริ่งอเมริกันเป็นชนิดที่แยกต่างหาก จึงเรียก Larus smithsonianus
ชนิดโมโนไทป์และโพลีไทป์
สรุป
มุมมอง

ชนิดโมโนไทป์ (monotypic species) คือชนิดที่มีเพียงชนิดย่อยเดียว และชนิดโพลีไทป์ (polytypic species) คือชนิดที่มีตั้งแต่สองชนิดย่อยหรือมากกว่า
ในแง่ชีววิทยา การตั้งชื่อชนิดย่อยเป็นไปตามความต่างกันทางพันธุกรรมและฟีโนไทป์ของสองกลุ่มประชากรหรือมากกว่านั้น กลุ่มประชากรที่แตกต่างกันเหล่านี้ไม่อาจผสมข้ามพันธุ์ได้ตามธรรมชาติเนื่องจากแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงด้วยภูมิศาสตร์ แต่ยังคงความสามารถในการผสมข้ามพันธุ์และมีลูกหลานที่เจริญพันธุ์ได้ (เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงในที่กักขัง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศและภูมิอากาศทำให้เกิดพื้นที่รอยต่อระหว่างกลุ่มประชากร) ชนิดย่อย พันธุ์ หรือกลุ่มประชากรเหล่านี้ มักถูกอธิบายและตั้งชื่อโดยนักสัตววิทยา นักพฤกษศาสตร์ และนักจุลชีววิทยา
ในชนิดโมโนไทป์ ประชากรทั้งหมดมีลักษณะทางพันธุกรรมและฟีโนไทป์เหมือนกัน ชนิดโมโนไทป์สามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธีได้แก่
- สมาชิกทั้งหมดของชนิด มีความคล้ายคลึงกันมากและไม่สามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ย่อยที่มีนัยสำคัญทางชีววิทยาอย่างสมเหตุสมผล
- แต่ละชีวิตมีความแตกต่างกันมาก แต่ความผันแปรนั้นสุ่มโดยพื้นฐานและไร้ความหมายทางพันธุกรรม ตราบเท่าที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
- ความผันแปรระหว่างชีวิตสามารถสังเกตได้และเป็นไปตามรูปแบบ แต่ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มที่แยกจากกัน ได้แก่ ความแตกต่างที่ลดหายไปจากกันและกัน การแปรผันโน้มตามทางพันธุกรรมดังกล่าวมักบ่งชี้ถึงการไหลของยีนจำนวนมากในกลุ่มที่แยกจากกันอย่างชัดเจนซึ่งประกอบเป็นประชากร ประชากรที่มีการไหลของยีนที่มั่นคงและสม่ำเสมอในหมู่พวกเขามักจะเป็นตัวแทนของสปีชีส์ monotypic แม้ว่าจะมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมในระดับกลาง ๆ ก็ตาม
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.