Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนอิสรภาพ (อักษรโรมัน: Thanon Itsaraphap) เป็นถนนสำคัญสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ถนนอิสรภาพ | |
---|---|
ถนนอิสรภาพบริเวณแยกลาดหญ้า | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 4.18 กิโลเมตร (2.60 ไมล์) |
ประวัติ | |
ทางแยกที่สำคัญ | |
จาก | ถนนลาดหญ้า ในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร |
| |
ถึง | ถนนรถไฟ / ถนนสุทธาวาส ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร |
ถนนอิสรภาพมีลักษณะเป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร ไม่มีเกาะกลาง เขตถนนกว้าง 21–23.50 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 4.18 กิโลเมตร[1] เริ่มต้นจากสามเหลี่ยมลาดหญ้าซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนลาดหญ้าและถนนท่าดินแดงในพื้นที่เขตคลองสาน มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนประชาธิปกและผ่านแนวคลองวัดน้อยที่ทางแยกบ้านแขก เข้าพื้นที่เขตธนบุรี ผ่านแนวคลองสมเด็จเจ้าพระยา ข้ามสะพานเจริญพาศน์ (คลองบางกอกใหญ่) และเข้าพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ตัดกับถนนวังเดิมที่ทางแยกโพธิ์สามต้น ผ่านแนวคลองวัดอรุณ ข้ามคลองมอญและเข้าพื้นที่เขตบางกอกน้อย เมื่อผ่านกองบัญชาการกองทัพเรือจึงเริ่มโค้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดกับซอยอิสรภาพ 39 (วัดดงมูลเหล็ก) และซอยอิสรภาพ 44 (แสงศึกษา) ที่ทางแยกวัดดงมูลเหล็ก ตัดกับถนนพรานนกและถนนวังหลังที่ทางแยกพรานนก ไปสิ้นสุดที่ทางแยกบ้านเนินซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนรถไฟและถนนสุทธาวาส
ถนนอิสรภาพเป็น "ถนนสายที่ 3" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2473 ได้กำหนดแนวเส้นทางถนนสายที่ 3 ไว้ตั้งแต่ถนนสายที่ 2 (ปัจจุบันคือถนนอรุณอมรินทร์) ที่วัดอมรินทราราม ไปทางทิศตะวันตก เลี้ยวลงมาทางทิศใต้ ซ้อนทับแนวถนนที่มีอยู่แล้วตั้งแต่บริเวณใต้วัดลครทำจนถึงสะพานเจริญพาศน์[2] จากนั้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านถนนสายที่ 1 ที่จัตุรัส (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปกและทางแยกบ้านแขก) ไปบรรจบถนนสายที่ 4 (ปัจจุบันคือถนนลาดหญ้า)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนสายต่าง ๆ ในโครงการดังกล่าวถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งถนนสายที่ 3 ออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่วัดอมรินทรารามถึงโค้งบ้านเนินค่ายหลวง ทรงตั้งชื่อถวายว่า "ถนนปากพิง" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงมหาชัยเมื่อปี พ.ศ. 2328 คราวที่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทรงนำกองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกที่ปากพิง ริมแม่น้ำน่าน[3] อย่างไรก็ตาม ชื่อถนนปากพิงไม่มีการนำมาใช้จริง โดยถนนช่วงดังกล่าวน่าจะเป็นถนนสายเดียวกับถนนรถไฟในปัจจุบัน[4] ส่วนช่วงที่ 2 ตั้งแต่โค้งบ้านเนินค่ายหลวงถึงถนนสายที่ 4 ทรงเสนอชื่อ "ถนนเจ้ากรุงธน" และ "ถนนธนราช" เพื่อเป็นการแสดงว่าราชวงศ์จักรีนับถือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[5] เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนช่วงนี้ว่า ถนนเจ้ากรุงธน[5]
อย่างไรก็ตาม ถนนเจ้ากรุงธนเพิ่งมาสร้างเสร็จตลอดทั้งสายในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งสภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน ประกอบกับทางราชการมีโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กลางวงเวียนใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อ (โครงการ) ถนนประชาธิปกตัดใหม่เป็น "ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน" เพื่อให้เกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ทำให้ชื่อถนนเจ้ากรุงธนมีความหมายพ้องกับชื่อถนนดังกล่าว ทางราชการจึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนชื่อถนนเจ้ากรุงธนเป็น ถนนอิสรภาพ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยและทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และเพื่อเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์แก่ชนรุ่นหลัง[6] โดยทำพิธีเปิดถนนสายนี้พร้อมกับถนนพรานนก (เปลี่ยนชื่อมาจากถนนวังหลัง) เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2482[6] ภายหลังได้มีการตัดถนนระยะสั้น ๆ ต่อจากโค้งบ้านเนินค่ายหลวงไปถึงบริเวณทางรถไฟสายใต้
จังหวัด | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | |
---|---|---|---|---|---|
ลาดหญ้า–บ้านเนิน (ถนนอิสรภาพ) | |||||
กรุงเทพมหานคร | 0+000 | แยกลาดหญ้า | เชื่อมต่อจาก: ถนนลาดหญ้า | ||
ถนนท่าดินแดง ไปถนนลาดหญ้า | ถนนท่าดินแดง ไปท่าดินแดง | ||||
แยกบ้านแขก | ถนนประชาธิปก ไปวงเวียนใหญ่ | ถนนประชาธิปก ไปสะพานพระปกเกล้า | |||
สะพานเจริญพาศน์ ข้ามคลองบางกอกใหญ่ | |||||
แยกโพธิ์สามต้น | ไม่มี | ถนนวังเดิม ไปถนนอรุณอมรินทร์ | |||
สะพาน ข้ามคลองมอญ | |||||
แยกวัดดงมูลเหล็ก | ซอยอิสรภาพ 39 ไปถนนจรัญสนิทวงศ์ | ซอยอิสรภาพ 44 ไปถนนอรุณอมรินทร์ | |||
แยกพรานนก | ถนนพรานนก ไปถนนกาญจนาภิเษก | ถนนวังหลัง ไปศิริราช | |||
แยกบ้านเนิน | เชื่อมต่อจาก: ถนนรถไฟ จากศิริราช, สถานีธนบุรี | ||||
ตรงไป: ถนนสุทธาวาส ไปถนนจรัญสนิทวงศ์ | |||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.