การตั้งชื่อทวินาม
ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม (อังกฤษ: Binomial nomenclature) เป็นระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ชื่อแต่ละชื่อในระบบนี้เรียกว่า ชื่อทวินาม (Binomial name) หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) คือชื่อที่ใช้เรียกแทนสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ ชื่อทวินามจะเป็นภาษาละติน ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ สกุล และ สปีชีส์ ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิตที่ต้องการระบุ โดยรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันออกไปบ้าง
ประวัติ
ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม ถูกคิดขึ้นใช้เป็นครั้งแรกโดยคัสพาร์ เบาฮีน (Gaspard Bauhin) และโยฮันน์ เบาฮีน (Johann Bauhin) ซึ่งมีชีวิตก่อนคาร์ล ลินเนียสเกือบ 200 ปี ทว่าการใช้ระบบนี้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ซึ่งในสมัยนั้นส่วนใหญ่ใช้ระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบไตรนาม แต่ต่อมาถึงสมัยของคาร์ล ลินเนียส ระบบนี้ก็เป็นที่แพร่หลายขึ้นมาก
กฎการตั้งชื่อ
สรุป
มุมมอง
มีหลักเกณฑ์ในการเขียนดังนี้
- ชื่อทวินามจะเป็นภาษาละติน ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ สกุล (genus) และ คำแสดงคุณลักษณะ (specific epithet)
- ชื่อทวินามมักจะถูกพิมพ์ด้วยตัวเอียง เช่น Homo sapiens หากเป็นการเขียนด้วยลายมือควรขีดเส้นใต้ลงไปแทน
- คำศัพท์คำแรก (ชื่อสกุล) ต้องขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ นอกจากนั้นใช้อักษรตัวเล็กทั้งหมด[1][2]เช่น Canis lupus หรือ Anthus hodgsoni แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ตั้งชื่อทวินามไว้ก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 และขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่อยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนเป็นตัวเล็กอีก เช่น Carolus Linnaeus
- ในสปีชีส์ย่อย ชื่อจะประกอบด้วยสามส่วนและสามารถเขียนได้สองแบบ โดยพืชและสัตว์จะเขียนต่างกัน[3] เช่น
- เสือโคร่งเบงกอลคือ Panthera tigris tigris และ เสือโคร่งไซบีเรียคือ Panthera tigris altaica
- ต้นเอลเดอร์ดำยุโรปคือ Sambucus nigra subsp. nigra และเอลเดอร์ดำอเมริกาคือ Sambucus nigra subsp. canadensis
- ในตำราเรียน มักมีชื่อสกุลย่อ หรือชื่อสกุลเต็มของนักวิทยาศาสตร์ผู้จัดทำชื่อนั้นต่อท้าย โดยชื่อสกุลย่อใช้กับพืช ส่วนชื่อสกุลเต็มใช้กับสัตว์ ในบางกรณีถ้าชื่อสปีชีส์เคยถูกกำหนดให้ชื่อสกุลที่ต่างออกไปจากชื่อในปัจจุบัน จะคร่อมชื่อสกุลนักวิทยาศาสตร์กับปีที่จัดทำไว้ เช่น Amaranthus retroflexus L., Passer domesticus (Linnaeus, 1758) ที่ใส่วงเล็บเพราะในอดีตชื่อหลังอยู่ในสกุล Fringilla
- หากใช้กับชื่อสามัญ เรามักใส่ชื่อทวินามไว้ในวงเล็บต่อท้ายชื่อสามัญ เช่น "นกกระจอกบ้าน (Passer domesticus) กำลังมีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ"
- การเขียนชื่อทวินามเป็นครั้งแรกในรายงานหรือสิ่งพิมพ์ เราเขียนเป็นชื่อเต็มก่อน หลังจากนั้นเราสามารถย่อชื่อสกุลให้สั้นลงเป็นอักษรตัวแรกของชื่อสกุลและตามด้วยจุด เช่น Canis lupus ย่อเป็น C. lupus ด้วยเหตุที่เราสามารถย่อชื่อในลักษณะนี้ได้ ทำให้ชื่อย่อเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงมากกว่าชื่อเต็ม เช่น T. Rex คือ Tyrannosaurus rex หรือ E. coli คือ Escherichia coli เป็นต้น
- บางกรณี เราเขียน "sp." (สำหรับสัตว์) หรือ "spec." (สำหรับพืช) ไว้ท้ายชื่อสกุล ในกรณีที่ไม่ต้องการเจาะจงชื่อสปีชีส์ และเขียน "spp." ในกรณีที่ต้องการกล่าวถึงหลายสปีชีส์ ตัวอย่างเช่น "Canis sp.", หมายถึงสปีชีส์หนึ่งในสกุล Canis
- สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งอาจมีชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งชื่อ ให้ใช้ชื่อตั้งขึ้นก่อนเป็นชื่อหลัก ส่วนชื่ออื่นเป็นชื่อพ้อง[4]
- ชื่อวิทยาศาสตร์มักจะบอกลักษณะบางอย่างกับสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น[4] ดังเช่น
ชื่อสามัญ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ความหมาย |
---|---|---|
ไส้เดือนดิน | Lumbricus terrestris | terrestris หมายถึง อาศัยอยู่บนบกหรือในดิน |
พยาธิใบไม้ในตับแกะ | Fasciola hepatica | hepatica หมายถึง ตับ |
ปลาซีลาแคนท์ | Latimeria chalumnae | Latimeria มาจากคำว่า Latimer ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่สนใจและพบปลาชนิดนี้ chalumnae มาจากคำว่า Chalumna ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำที่พบปลาชนิดนี้บริเวณปากแม่น้ำ |
ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส | Phuwiangosaurus sirindhornae | Phuwiangosaurus หมายถึงไดโนเสาร์ที่พบใน อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น |
ไม้รวก | Thyrsostachys siamensis | siamensis มาจากคำว่า siam ซึ่งหมายถึง ประเทศไทย |
มะม่วง | Mangifera indica | indica หมายถึง ประเทศอินเดีย |
ชื่อสามัญ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ความหมาย |
---|---|---|
จำปี | Michelia alba | alba หมายถึง สีขาว |
กล้วยชนิดหนึ่ง | Musa rubra | rubra หมายถึง สีแดง |
มะยม | Phyllantus acidus | acidus หมายถึง มีรสเปรี้ยว |
ปลาบึก | Pangasianodon gigas | gigas หมายถึง ใหญ่ที่สุด |
เชื้อโรคแอนแทรกซ์ | Bacillus anthracis | bacillus หมายถึง รูปท่อน anthrasis หมายถึง โรคแอนแทรกซ์ |
ชื่อสามัญ | ชื่อวิทยาศาสตร์ | ความหมาย |
---|---|---|
ปลาบู่มหิดล | Mahidoli mystasina | Mahidoli มาจากพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก |
ปูเจ้าฟ้า | Phricothalphusa sirindhorn | sirindhorn มาจากพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี |
กั้งเจ้าฟ้า | Acanthosquilla sirindhorn (Naiyanetr, 1995) | sirindhorn มาจากพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Naiyanetr คือชื่อย่อของ ศ. ไพบูลย์ นัยเนตร ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ตั้งชื่อเมื่อปี ค.ศ. 1995 |
กุ้งดีดขัน | Alpheus sudara | sadara มาจากชื่อสกุลของ ดร.สุรพล สุดารา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.