Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปัญหาราชวงศ์ (ฝรั่งเศส: Question royale, ดัตช์: Koningskwestie) เป็นวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในเบลเยียม ในช่วงปี ค.ศ. 1945 ถึง 1951 และความขัดแย้งปะทุถึงขีดสุดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1950 "ปัญหา" ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่รายล้อมพระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียมในเรื่องที่พระองค์จะสามารถกลับประเทศและทรงกลับมามีบทบาทตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ท่ามกลางข้อกล่าวหาถึงบทบาทของพระองค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญเบลเยียมหรือไม่ ปัญหานี้แก้ไขโดยการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์เลออปอลให้แก่สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม พระราชโอรส ในปี ค.ศ. 1951
วิกฤตเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์เลออปอลที่ 3 และรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีอูแบร์ ปิแยร์โลต์ในช่วงกองทัพเยอรมันรุกรานเบลเยียม ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลทรงถูกตั้งข้อสงสัยว่าทรงเห็นอกเห็นใจระบอบเผด็จการและพระองค์ทรงบัญชาการกองทัพเบลเยียมในช่วงสงคราม เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ พระองค์จะทรงมีฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีความสำคัญกว่าบทบาทหน้าที่พลเรือนในฐานะประมุขแห่งรัฐ พระองค์ปฏิเสธที่จะละทิ้งกองทัพของพระองค์และปฏิเสธที่จะร่วมรัฐบาลพลัดถิ่นเบลเยียมในฝรั่งเศส การที่กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ทรงปฏิเสธที่จะเชื่อฟังคณะรัฐบาลถือเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ และหลังจากทรงยอมจำนนต่อเยอรมนีในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลทรงถูกประณามอย่างแพร่หลาย ในช่วงการยึดครองของเยอรมัน กษัตริย์เลออปอลทรงถูกกักบริเวณในพระราชวังซึ่งพระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงประทับเพื่อรับความทุกข์ทรมานร่วมกับพสกนิกรของพระองค์ ฝ่ายสัมพันธมิตรปลดปล่อยประเทศในปี ค.ศ. 1944 นาซีได้ย้ายพระองค์ไปอยู่เยอรมนี
เมื่อเบลเยียมได้รับการปลดปล่อยแต่พระมหากษัตริย์ยังคงถูกคุมขังอยู่ ได้มีการเลือกเจ้าชายชาลส์ เคานต์แห่งฟลานเดอร์ พระอนุชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าพระมหากษัตริย์ "ไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป" ตามรัฐธรรมนูญ ประเทศเกิดความแตกแยกทางการเมืองด้วยปัญหาว่าพระมหากษัตริย์จะสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อีกหรือไม่ และด้วยขบวนการทางการเมืองฝ่ายซ้ายเข้ามาควบคุมการเมือง กษัตริย์เลออปอลจึงทรงลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1950 มีการลงประชามติระดับชาติที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลใหม่สายกลาง-ขวา เพื่อตัดสินว่ากษัตริย์เลออปอลจะทรงสามารถเสด็จกลับมาได้หรือไม่ แม้ว่าผลการลงประชามติที่ออกมาจะเป็นชัยชนะของฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอล แต่ก็ทำให้เกิดความแตกแยกในระดับภูมิภาคอย่างรุนแรงระหว่างแฟลนเดอส์ ซึ่งต้องการให้พระมหากษัตริย์กลับมา กับบรัสเซลส์และเขตวัลลูน นั้นต่อต้านพระมหากษัตริย์ กษัตริย์เลออปอลที่ 3 เสด็จกลับเบลเยียมในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1950 พระองค์ได้รับการต้อนรับด้วยการประท้วงขนานใหญ่ในประเทศโดยเฉพาะในเขตวัลลูนและมีการนัดหยุดงานทั่วไป ความไม่สงบดังกล่าวนำมาซึ่งกรรมกร 4 คนถูกสังหารโดยตำรวจในวันที่ 30 กรกฎาคม ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1950 กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ทรงประกาศตั้งพระทัยที่จะสละราชบัลลังก์ หลังจากช่วงการเปลี่ยนผ่าน พระองค์สละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1951
เบลเยียมได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1830 และมีการประกาศจัดตั้งราชาธิปไตยของปวงชนด้วยราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นระบบสองสภาของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญเบลเยียมแนวเสรีนิยมถูกร่างขึ้นในปี ค.ศ. 1831 ซึ่งบัญญัติในเรื่องของความรับผิดชอบและข้อจำกัดที่กำหนดให้กับพระมหากษัตริย์ แม้ว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐจะถูกจำกัดไม่ให้กระทำการใด ๆ โดยปราศจากความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่พระองค์ก็ได้รับอนุญาตให้มีพระอำนาจควบคุมกองทัพได้อย่างเต็มที่ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ความรับผิดชอบใดที่มีลำดับเหนือกว่าถ้าหากมีข้อขัดแย้งกันก็จะถูกปล่อยให้คลุมเครือ และความคลุมเครือนี้เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาราชวงศ์[1]
พระมหากษัตริย์พระองค์แรกคือ พระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม ทรงยอมรับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแต่พระองค์ทรงพยายามใช้โอกาสจากความคลุมเครือนี้ในการเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์อย่างละเอียดรอบคอบ สิ่งนี้ดำเนินต่อในรัชกาลถัดไป แม้ว่าจะประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม[2]
พระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียมครองราชย์ในปี ค.ศ. 1934 หลังจากพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระราชบิดาเสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุขณะทรงปีนเขา กษัตริย์อัลแบร์ที่ 1 ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า "กษัตริย์อัศวิน" (Knight King; roi-chevalier หรือ koning-ridder) ด้วยทรงได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวเบลเยียมจากการที่ทรงบัญชาการกองทัพเบลเยียมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1914 - 1918) ซึ่งหลายประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี รัชสมัยของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 ต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และความปั่นป่วนทางการเมืองจากพวกฝ่ายซ้ายจัดและฝ่ายขวาจัด ในช่วงวิกฤตนี้กษัตริย์เลออปอลที่ 3 มีประประสงค์ที่จะขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์[3] พระองค์จึงถูกสงสัยอย่างกว้างขวางว่าทรงมีความคิดทางการเมืองแบบเผด็จการและเอียงขวา[4] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 กษัตริย์เลออปอลทรงเป็นผู้สนับสนุนหลักของ "นโยบายความเป็นอิสระ" ของเบลเยียมต่อประเทศเป็นกลางในช่วงที่นาซีเยอรมนีขยายอำนาจและดินแดนอย่างแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น[5]
ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันบุกเบลเยียมที่เป็นกลางโดยไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ กษัตริย์เลออปอลที่ 3 เสด็จไปยังป้อมบรีนดองก์ ศูนย์บัญชาการกองทัพเบลเยียมใกล้เมืองเมเคอเลิน เพื่อควบคุมกองทัพ พระองค์ปฏิเสธที่จะแจ้งต่อรัฐสภาเบลเยียมก่อน ดังเช่นในสมัยของกษัตริย์อัลแบร์ที่ 1 ซึ่งทรงเคยทำมาก่อนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[6] ความรวดเร็วในการรุกคืบของกองทัพเยอรมันใช้ยุทธวิธีใหม่คือ บลิทซ์ครีค ผลักดันกองทัพเบลเยียมไปทางตะวันตก แม้ว่ากองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษจะเข้ามาช่วยก็ตาม ในวันที่ 16 พฤษภาคม รัฐบาลเบลเยียมออกจากกรุงบรัสเซลส์[7]
ไม่นานหลังจากเกิดสงคราม พระมหากษัตริย์และรัฐบาลเริ่มไม่ลงรอยกัน เมื่อรัฐบาลได้โต้แย้งว่าการรุกรานของเยอรมนีเป็นการละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียมและทำให้เบลเยียมต้องร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง กษัตริย์เลออปอลทรงโต้แย้งว่าเบลเยียมยังคงเป็นกลางและไม่มีพันธะใด ๆ นอกเหนือจากการปกป้องพรมแดนเท่านั้น กษัตริย์เลออปอลทรงคัดค้านไม่อนุญาตให้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาในพรมแดนเบลเยียมเพื่อสู้รบเคียงข้างกองทัพเบลเยียม ด้วยการทำเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดความเป็นกลาง[7]
ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลทรงให้ผู้แทนอาวุโสของรัฐบาลเข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้ายที่ปราสาทวิลนานเดลในมณฑลฟลานเดอร์ตะวันตก การพบปะครั้งนี้ถูกอ้างถึงหลายครั้งว่าเป็นชนวนเหตุของปัญหาราชวงศ์และเป็นการแตกหักระหว่างพระมหากษัตริย์และรัฐบาล[8] รัฐมนตรีสี่คนในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ได้แก่ อูแบร์ ปิแยร์โลต์, ปอล-อ็องรี สปัก, อ็องรี เดนิส และอาเทอร์ ฟานเดอพอเทิน[8] ในที่ประชุมมีการต่อสู้ที่นองเลือดอยู่เบื้องหลังคือ ยุทธการที่แม่น้ำลิส (ค.ศ. 1940) รัฐบาลเบลเยียมเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับกองทัพเยอรมนีต่อไปจึงลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส[7] พวกเขากราบทูลขอให้กษัตริย์ทรงติดตามไปด้วย เหมือนสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาแห่งเนเธอร์แลนด์และแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตแห่งลักเซมเบิร์ก กษัตริย์ทรงปฏิเสธข้อโต้แย้งของรัฐบาลและทรงทำให้จุดยืนของพระองค์ยากลำบากมากขึ้น พระองค์ปฏิเสธที่จะเสด็จออกจากแผ่นดินเบลเยียมและกองทัพของพระองค์ในแฟลนเดอส์ไม่ว่าจะต้องสูญเสียมากแค่ไหน รัฐมนตรีบางคนจึงสงสัยว่าข้าราชบริพารของกษัตริย์เลออปอลกำลังลอบเจรจากับเยอรมัน[7] การประชุมสิ้นสุดโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ และรัฐบาลเบลเยียมออกเดินทางไปยังฝรั่งเศส[9]
กษัตริย์เลออปอลทรงเจรจาหยุดยิงกับกองทัพเยอรมนีในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 และกองทัพเบลเยียมได้ยอมจำนนอย่างเป็นทางการในวันต่อมา กษัตริย์เลออปอลทรงกลายเป็นเชลยศึกและทรงถูกกักบริเวณแต่ในพระราชวังลาเกินใกล้บรัสเซลส์[10] ด้วยความโกรธแค้นที่พระมหากษัตริย์เพิกเฉยต่อรัฐบาลและทรงเจรจายอมแพ้โดยไม่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีปิแยร์โลต์จึงกล่าวสุนทรพจน์อย่างโกรธเกรี้ยวผ่านเรดิโอปารีส ประณามกษัตริย์เลออปอลที่ 3 และประกาศความตั้งใจของรัฐบาลที่จะร่วมต่อสู้เคียงข้างฝ่ายสัมพันธมิตร[10] นักการเมืองฝรั่งเศสโดยเฉพาะปอล แรโน ตำหนิกษัตริย์เลออปอลที่ 3 ว่าทรงทำให้เกิดยุทธการที่ฝรั่งเศสอันหายนะและประณามพระองค์อย่างโกรธเกรี้ยวว่า "กษัตริย์อาชญากร" (roi-félon)[11]
เจตจำนงทางการเมืองของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 ในปีค.ศ. 1944[12]
เบลเยียมยอมจำนนในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ต้องอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีและมีการจัดตั้งการปกครองทางทหารในเบลเยียมและฝรั่งเศสตอนเหนือภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฟาลเคินเฮาเซินในการปกครองประเทศ ข้าราชการชาวเบลเยียมถูกสั่งให้ประจำอยู่ในตำแหน่งเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถทำงานต่อไปได้และพยายามปกป้องประชาชนจากอำนาจของเยอรมนี[13]
ด้วยการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสและการจัดตั้งระบอบการปกครองที่นิยมเยอรมันอย่าง ฝรั่งเศสเขตวีชี ทำให้มีการเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเยอรมนีอาจจะได้ชัยชนะในสงคราม กษัตริย์เลออปอลทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น "มรณสักขี" หรือสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งของชาติ ตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่ถูกมองว่ายึดมั่นในอุดมการณ์มากกว่าผลประโยชน์ของชาวเบลเยียม ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ผู้แทนอาวุโสจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกในเบลเยียม พระคาร์ดินัลยอแซ็ฟ-เอิร์นเนสต์ ฟัน รูอีได้ส่งจดหมายศิษยาภิบาลเรียกร้องให้ชาวเบลเยียมทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกับพระมหากษัตริย์[14] บุคคลอื่น ๆ ในคณะผู้ติดตามของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ็องรี เดอ มาน นักสังคมนิยมอำนาจนิยม เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวและเมื่อสงครามสิ้นสุดจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ปกครองรัฐเบลเยียมแบบเผด็จการ[15]
แม้จะทรงถูกกักบริเวณแต่พระองค์ยังทรงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพระองค์เอง พระองค์เชื่อว่าเยอรมนีจะได้รับชัยชนะ ระเบียบใหม่ (ลัทธินาซี)จะถูกสถาปนาในยุโรป และในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลทางการเมืองจากเบลเยียมที่มีศักดิ์สูงสุดในยุโรปที่ถูกยึดครอง พระองค์สามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่เยอรมันได้ กษัตริย์เลออปอลทรงติดต่อกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และทรงพยายามที่จะประชุมเขา[16] ฮิตเลอร์ยังคงไม่สนใจและไม่เชื่อใจกษัตริย์ แต่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลประสบความสำเร็จในการเข้าประชุมแต่เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญอะไรที่แบร์คโฮฟ[17]
แรงสนับสนุนของกษัตริย์เลออปอลในเบลเยียมลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อมีข่าวสู่สาธรณชนว่ากษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับลิเลียน เบลส์[18] การเสกสมรสครั้งนี้ไม่เป็นที่นิยมอย่างฝังรากลึกในหมู่สาธารณชนชาวเบลเยียม[lower-alpha 1] ภาพลักษณ์ "กษัตริย์นักโทษ" (roi prisonnier) ซึ่งทรงแบ่งปันความทุกข์ทรมานของเชลยสงครามชาวเบลเยียม ถูกทำลายลงและความนิยมของพระองค์ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตวัลลูน ซึ่งเป็นเขตที่นักโทษชาวเบลเยียมส่วนใหญ่ยังคงถูกคุมขัง[18][20] ความเห็นหลักของสาธารณชนมองว่ากษัตริย์ไม่เต็มพระทัยที่จะมีพระราชดำรัสต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี[19]
การพ่ายแพ้ของเยอรมนีต่อรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกหลังปี ค.ศ. 1942 กษัตริย์ทรงเตรียมการยุติสงคราม พระองค์ทรงให้จัดทำเอกสารที่เรียกว่า เจตจำนงทางการเมือง (Testament Politique) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของพระองค์เองภายใต้การยึดครองและให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแทรกแซงของพระองค์ เพื่อช่วยเหลือเชลยสงครามชาวเบลเยียมและแรงงานที่ถูกเนรเทศ แต่กษัตริย์เลออปอลยังทรงประณามการดำเนินงานของรัฐบาลเบลเยียมพลัดถิ่น (ประจำการในลอนดอนหลังเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940) ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1944 จากเหตุการณ์การยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี กษัตริย์เลออปอลทรงถูกนำพระองค์ไปยังเยอรมนี[20] พระองค์ได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพอเมริกันในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1945[21]
หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี จึงก้าวเข้าไปในพรมแดนเบลเยียมในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อยและภายในวันที่ 4 กันยายน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เข้ายึดครองบรัสเซลส์ได้ ในขณะที่ส่วนอื่นของเบลเยียมได้รับการปลดปล่อยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1944 รัฐบาลเบลเยียมพลัดถิ่นได้กลับคืนสู่บรัสเซลส์และได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างเฉยเมย[22] แม้ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ แต่เจตจำนงทางการเมืองของพระองค์ได้ถูกนำเสนอต่อรัฐบาลที่เพิ่งกลับมาตามที่พระองค์ประสงค์และในไม่ช้าก็มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน[22] ในขณะเดียวกันร่างเอกสารเจตจำนงได้ถูกส่งมายังสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร และแอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ข้อความดังกล่าวทำให้เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่ถูกซ่อนไว้ในช่วงสงคราม[23]
ในยามที่พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นเชลยของเยอรมนี จึงไม่มีใครต่อต้านแนวคิดในการจัดตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1944 มีการจัดประชุมรัฐสภา และมีการใช้มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ[lower-alpha 2] ประกาศว่าพระมหากษัตริย์ "ไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป" (dans l'impossibilité de régner)[24] เจ้าชายชาลส์ เคานต์แห่งฟลานเดอร์ พระอนุชาผู้รักสันโดษของกษัตริย์เลออปอลได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันถัดมา[20] การดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาราชวงศ์ถูกผลักออกไป แทนที่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องเหล่านี้[24][26] เมื่อเบลเยียมอยู่ภายใต้การบริหารกิจการของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรจนกระทั่งมีการฟื้นฟูการบริหารงานของรัฐบาล การต่อต้านของอังกฤษที่มีต่อการเสด็จกลับประเทศของกษัตริย์เลออปอลได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น[27]
เพียงเวลาไม่นานหลังจากเบลเยียมได้รับการปลดปล่อย ประเทศอยู่ในช่วงของกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวทางการเมืองก็เริ่มขึ้น ระบอบพรรคการเมืองดั้งเดิมถูกทำลายจากสงครามและการยึดครอง กลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองได้สรังพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ฝ่ายสังคมนิยมจัดตั้งพรรคสังคมนิยมเบลเยียม (PSB-BSP) ส่วนฝ่ายคาทอลิกและอนุรักษืนิยมจัดตั้งพรรคสังคมคริสเตียน (PSC-CVP)[28] การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงยุคหลังการปลดปล่อยคือ คลื่นแรงของพรรคคอมมิวนิสต์เบลเยียม ซึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองลำดับที่สามในระบอบการเมืองเบลเยียมจนถึปีค.ศ. 1949 ได้ถูกแทนที่ด้วยพรรคเสรีนิยมเป็นการชั่วคราว[28] ขบวนการวัลลูนเกิดขึ้นอีกครั้งหลังสงคราม โดยพยายามส่งเสริมวัฒนธรรมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพื้นที่ประชากรพูดภาษาฝรั่งเศสทางตอนใต้ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการปฏิรูปสหภาพแรงงานตามมาด้วยการจัดตั้งสหภาพขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งเดียว คือ สหพันธ์แรงงานแห่งเบลเยียม (Fédération générale du Travail de Belgique หรือ Algemeen Belgisch Vakverbond; FGTB-ABVV) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 และมีสมาชิกทั่วประเทศถึง 248,000 คน[29] แต่ถึงกระนั้นในปีค.ศ. 1947 โครงสร้างทางการเมืองของรัฐเบลเยียมมีเสถียรภาพ[30]
ในช่วงสมัยผู้สำเร็จราชการช่วงแรก ทั้งปิแยร์โลต์และรัฐบาลของอาคีล ฟัน อักเคอร์ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าปัญหาการเสด็จกลับมาของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 แม้จะมีการเรียกร้องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยมบางคนและฝ่ายสหภาพการค้าที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์สละราชบัลลังก์ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ค.ศ. 1945[31] ไม่นานหลังจากมีการปล่อยกษัตริย์เลออปอลออกจากที่คุมขัง นายกรัฐมนตรีฟัน อักเคอร์และผู้แทนรัฐบาล ได้เดินทางไปยังสโตรพ ประเทศออสเตรียภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อเจรจากับกษัตริย์เลออปอล มีการประชุมกันในช่วงวันที่ 9 ถึง 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ฟัน อักเคอร์ยืนยันว่าพระองค์จะต้องทรงประกาศต่อสาธารณชนว่าทรงสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร และความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา[31][32] แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้[31] ในขณะเดียวกันกษัตริย์เลออปอลทรงย้ายไปประทับที่เพลญี-ฌ็อมเบซี (ใกล้เจนีวา) ในสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยทรงอ้างว่าทรงมีพระอาการใจสั่นทำให้การเจรจาต่อไปหรือการที่จะทรงกลับไปใช้ชีวิตทางการเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้[33][34]
ในเบลเยียม การถกเถียงทางการเมืองเกี่ยวกับปัญหาราชวงศ์ยังคงดำเนินต่อไปและเพิ่มมากขึ้นหลังสงคราม และยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงยอดนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์นิยมฝรั่งเศสอย่าง เลอ ซัวร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปในเบลเยียม ค.ศ. 1949[lower-alpha 3] พรรค PSC-CVP มีการรณรงค์หาเสียงด้วยแนวคิดนิยมเจ้า สนับสนุนกษัตริย์เลออปอล[33] ผลการเลือกตั้งได้พลิกโฉมภูมิทัศน์ทางการเมือง ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกวางแนวทางไว้[lower-alpha 4] และพรรค PSB-BSP สูญเสียที่นั่งให้กับทั้งพรรคเสรีนิยมและพวกคาทอลิก ฝ่ายคาทอลิกได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและได้รับเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นชัยชนะที่ดีที่สุดนับตั้งแต่สงคราม[33] กัสต็อง ไอส์เคินได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมเสรีนิยม-คาทอลิก พรรคการเมืองทั้งสองพรรคในรัฐบาล (รวมถึงกษัตริย์เลออปอลเอง) สนับสนุนการจัดทำประชามติเพื่อให้พระมหากษัตริย์กลับมา ซึ่งจะกลายเป็นจุดสนใจทางการเมือง[33]
รัฐบาลของไอส์เคินเห็นชอบให้จัดทำการออกเสียงประชามติระดับประเทศ เพื่อให้เป็น "การพิจารณาที่แพร่หลาย" (consultation populaire หรือ volksraadpleging) และกำหนดเป็นวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1950[37] นับเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเบลเยียมและมีความตั้งใจให้เป็นกรณีศึกษา การรณรงค์คะแนนเสียงเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งสองฝ่าย มีการหยุดชะงักในการลงคะแนนโพลล์เล็กน้อย และมีการถกเถียงกันอยู่เป็นปกติ[38]
ผลการออกเสียงประชามติไม่ชี้ขาด ฝ่ายที่ต้องการให้กษัตริย์เลออปอลกลับมาได้ชัยชนะเพียงร้อยละ 58 ของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ โดยได้คะแนนนำ 7 มณฑลจากทั้งหมด 9 มณฑลในเบลเยียม แต่การลงคะแนนเสียงมีการแตกแยกในภูมิภาคอย่างมาก[38] ในแฟลนเดอส์ ออกคะแนนเสียงให้กษัตริย์เลออปอลกลับมาถึงร้อยละ 72 แต่ในเขตการเลือกตั้งกรุงบรัสเซลส์ ฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลได้คะแนนเสียงไปเพียงร้อยละ 48 ในเขตวัลลูนออกคะแนนเสียงให้ฟื้นฟูกษัตริย์เพียงร้อยละ 42[39] ผลลัพธ์ท้ายสุดคิดเป็นร้อยละแบ่งตามมณฑล ได้แก่[39]
*เสียงข้างมากในเขตการเลือกตั้งแวร์วีแยส์ลงมติเห็นชอบให้กษัตริย์กลับมา **เสียงข้างมากในเขตการเลือกตั้งนามูร์ต่อต้านการกลับมาของกษัตริย์
ผลการเลือกตั้งได้ทำให้บางคนเกิดความกังวล ดังเช่น สปักมองว่าการออกคะแนนเสียงนี้จะไม่ชี้ชัดไปในทางใดทางหนึ่งและอาจทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศตามภูมิภาคและภาษา ในวันที่ 13 มีนาคม นายกรัฐมนตรีไอส์เคินเดินทางไปยังเพลญี-ฌ็อมเบซี เพื่อกราบทูลโน้มน้าวให้กษัตริย์เลออปอลที่ 3 สละราชบัลลังก์[40] ปอล ฟัน เซลันด์และสปัก สองอดีตนายกรัฐมนตรีพยายามเป็นตัวแทนเจรจาข้อตกลงใหม่ให้กษัตริย์เลออปอลสละราชบัลลังก์แก่พระราชโอรส[40] ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1950 กษัตริย์เลออปอลทรงประกาศตั้งพระทัยที่จะมอบพระราชอำนาจของพระองค์เป็นการชั่วคราว[40] นักการเมืองหลายคนในพรรค PSC–CVP ตระหนักถึงผลประชามติทำให้พวกเขาสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาอันจะเป็นการบ่อนทำลายการปรองดองระดับชาติรอบองค์พระมหากษัตริย์ ตราบใดที่พันธมิตรแนวร่วมเสรีนิยมไม่เต็มใจที่ยอมรับการกลับมาของกษัตริย์[41]
ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1950 เจ้าชายชาลส์ ผู้สำเร็จราชการทรงยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พระองค์ตั้งพระทัยที่จะป้องกันการจัดตั้งรัฐบาลพรรค PSC-CVP ที่จะมีฟัน เซลันด์เป็นผู้นำรัฐบาล เขาเป็นผู้นิยมกษัตริย์เลออปอลอย่างแข็งขัน ซึ่งอาจจะทำให้กษัตริย์เลออปอลเสด็จกลับมาโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ[42] การเลือกตั้งทั่วไปในเบลเยียม ค.ศ. 1950 ทำให้พรรค PSC-CVP ได้รับเสียงข้างมากทั้งในรัฐสภาและวุฒิสภา[lower-alpha 5] ทำให้กลายเป็นรัฐบาลใหม่พรรคเดียวภายใต้การนำของฌ็อง ดูวิวซารต์[42]
การดำเนินการแรกของรัฐบาลดูวิวซารต์คือการออกร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้การ "การไร้ความสามารถในการปกครอง" ของพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสุดลง ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1950 กษัตริย์เลออปอลที่ 3 เสด็จนิวัติเบลเยียมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 และดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไป[42]
ในปี ค.ศ. 1949 ขบวนการ FGTB–ABVV ได้ลงมติงบประมาณพิเศษจำนวน 10 ล้านฟรังก์เบลเยียม เพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิบัติการร่วม (Comité d'action commune) ในการสนับสนุนการนัดหยุงานทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการกลับมาของกษัตริย์ สหภาพแรงงานเป็นผู้นำในการต่อต้านในฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1950 อังเดร เรนาร์ด ผู้นำสหภาพการค้าชาววัลลูน เรียกร้องให้มีการ "จลาจล" และ "ปฏิวัติ" ในหนังสือพิมพ์ลา วัลลูนนี (La Wallonie) ไม่นานหลังกษัตริย์เสด็จนิวัติในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1950[43] นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ตั้งข้อสังเกตว่า "กลิ่นอายของการปฏิวัติอยู่ในอากาศ" ซึ่งนักชาตินิยมชาววัลลูนยังมีการเรียกร้องให้มีการแยกเขตวัลลูนออกจากเบลเยียมในทันทีและสร้างสาธารณรัฐ[44]
การนัดหยุดงานทั่วประเทศในปี ค.ศ. 1950 เริ่มจากอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในมณฑลแอโนและแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าคนงานก็หยุดงานทั่วเขตวัลลูน บรัสเซลส์และที่หยุดงานน้อยกว่าคือที่แฟลนเดอส์ ท่าเรือแอนต์เวิร์ปหนึ่งในสถานที่สำคัญได้รับผลกระทบและประเทศแทบจะเป็นอัมพาต[43] ในวันที่ 30 กรกฎาคม แรงงาน 4 คนถูกยิ่งเสียชีวิตโดยกองตำรวจภูธร (เบลเยียม) ที่กราซ-ฮอโลญนีใกล้เมืองลีแยฌและความรุนแรงก็ทวีมากขึ้น[45][46] ฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลในรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลมีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้น แต่ก็พบว่าพรรคพวกของตนเป็นคนกลุ่มน้อย แม้แต่ในพรรค PSC-CVP เอง ความผิดหวังที่ไม่มีอะไรคืบหน้า รัฐบาลจึงขู่ว่าจะประกาศลาออก "ทั้งคณะ"[44]
เมื่อสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น สมาพันธ์นักโทษทางการเมืองแห่งชาติและผู้พึ่งพิง (Confédération nationale des prisonniers politiques et des ayants droit, Nationale Confederatie van Politieke Gevangenen en Rechthebbenden, หรือ CNPPA–NCPGR) อันเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในช่วงที่เยอรมนียึดครอง เสนอที่จะเป็นตัวกลางการเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ เนื่องจากองค์กรนี้เป็นที่เคารพนับถือจากทุกฝ่าย[47] องค์กร CNPPA–NCPGR ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมทั้งพระมหากษัตริย์และรัฐบาลให้เปิดการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 31 กรกฎาคม ในตอนเที่ยงของวันที่ 1 สิงหาคม กษัตริย์เลออปอลทรงประกาศตั้งพระทัยที่จะสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการแก่เจ้าชายโบดวง พระราชโอรส เพื่อหลีกเลี่ยวความขัดแย้งอันนองเลือด[44] เจ้าชายโบดวงทรงมีพระชนมายุ 19 พรรษา ทรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยพระอิสริยยศ "พระวรราชกุมาร" (Prince Royal) ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950[48]
กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชบัลลังก์ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1950 แต่ก็มีการไกล่เกลี่ยให้มีการเตรียมตัวเจ้าชายโบดวง พระราชโอรสเป็นเวลาหนึ่งปี[49] เจ้าชายโบดวงทรงถูกมองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเป็นตัวเลือกที่พวกเขายอมรับได้ ภายใต้กฎหมายในวันที่ 11 สิงหาคม อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์จะถูกถ่ายโอนไปยังเจ้าชายโบดวงก่อนที่จะมีการสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ กษัตริย์เลออปอลที่ 3 สละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1951 พระราชโอรสสืบราชบัลลังก์ในวันถัดมา[44]
ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 กษัตริย์โบดวงทรงประกอบพิธีสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญภายในรัฐสภา บุคคลที่ไม่ปรากฏชื่อที่นั่งอยู่บริเวณฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตระโกนว่า "สาธารณรัฐจงเจริญ!" การขัดจังหวะพระมหากษัตริย์ครั้งนี้สร้างความเจ็บแค้นแก่ผู้จงรักภักดี[50] มีการสงสัยอย่างกว้างขวางว่า เจ้าของเสียงปริศนาคือ จูเลียน ลาโฮต์ ผู้นำคอมมิวนิสต์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านการกลับมาของกษัตริย์เลออปอล หนึ่งสัปดาห์ต่อมา (18 สิงหาคม) ลาโฮต์ถูกยิงเสียชีวิตโดยมือสังหารที่ไม่สามารถระบุได้ บริเวณนอกบ้านของเขาในเซอแร็ง มณฑลลีแยฌ[50] การลอบสังหารสร้างความตกตะลึงแก่สังคมเบลเยียมมาก มีผู้เข้าร่วมงานศพของลาโฮต์กว่า 200,000 คน[50] แม้ว่าไม่มีใครถูกดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรม แต่ก็มีการสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของสมาคมนิยมกษัตริย์เลออปอลอย่าง "Ligue Eltrois" หรือ "กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์เบลเยียม" (Bloc anticommuniste belge) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญงานด้านรักษาความปลอดภัย[51]
ผลที่ตามมาของปัญหาราชวงศ์ ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นประเด็นปัญหาการเมืองอื่น ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1950 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยแซ็ฟ พอเลียนได้ประกาศตั้งใจที่จะส่งอาสาสมัครทหารเบลเยียมไปร่วมรบในสงครามเกาหลี[52] มีการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาป้องกันประชาคมยุโรปตามมา และในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 เบลเยียมจมอยู่ในวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า สงครามโรงเรียนครั้งที่สอง เกี่ยวกับโลกิยานุวัติทางการศึกษา (แยกศาสนาออกจากการศึกษา)[53] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1960 กษัตริย์โบดวงทรงแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีกัสต็อง ไอส์เคินว่าพระองค์ไม่ไว้วางพระทัยในรัฐบาลและทรงขอให้เขาลาออก นายกรัฐมนตรีไอส์เคินปฏิเสธและท้าทายพระมหากษัตริย์ทรงอุทธรณ์ตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญและเพิกถอนอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยฝ่ายเดียว ด้วยความเกรงว่าอาจทำให้เกิดปัญหาราชวงศ์ขึ้นมาอีกครั้ง กษัตริย์โบดวงจึงทรงยอมแพ้ต่อนายกรัฐมนตรี[54]
นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อธิบายว่า ปัญหาราชวงศ์เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในการฟื้นตัวของเบลเยียมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลและฝ่ายต่อต้านกษัตริย์เลออปอลนำไปสู่การจัดตั้งพรรคสังคมนิยมและพรรคคาทอลิกขึ้นใหม่ตั้งแต่ก่อนสงคราม[30] ปัญหาราชวงศ์เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในความขัดแย้งทางภาษาและเชื้อชาติของเบลเยียม นอกจากนี้ยังเป็นจุดจบของสถาบันเบลเยียมในลักษณะสหภาพซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งระหว่างภูมิภาครุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อตัวมาจากปัญหาราชวงศ์[55] นอกจากนี้ความล้มเหลวของพรรค PSC-CVP ที่พยายามทำตามความต้องการของชาวเฟลมิชในการกระตุ้นให้เกิดการกลับมาของกษัตริย์เลออปอล เพื่อต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคสหภาพประชาชน อันเป็นพรรคชาตินิยมขบวนการเฟลมิชหลังค.ศ. 1954[56] ในเขตวัลลูน มรดกของสหภาพการค้าและการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบสังคมนิยมในช่วงการนัดหยุดงานทั่วประเทศเป็นการปูทางไปสู่การกำเนินใหม่ของขบวนการวัลลูนฝ่ายซ้าย ในที่สุดกลายเป็นเหตุการณ์การนัดหยุดงานทั่วประเทศเบลเยียม ค.ศ. 1960-1961[56]
คดีการลอบสังหารลาโฮต์ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในฐานะการฆาตกรรมทางการเมืองเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์เบลเยียม นอกจากนี้คือเหตุการณ์การลอบสังหารอังเดร คูลส์ นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมในปีค.ศ. 1991 ฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลถูกสงสัยแต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ในภายหลัง จากการสืบสวนของนักประวัติศาสตร์อย่างรูดี ฟัน ดุร์สแลร์และเอเยง เฟอฮูแยร์ มีการระบุชื่อของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสังหาร[57] และมีรายงานครั้งสุดท้าย ส่งให้กับรัฐบาลเบลเยียมในปีค.ศ. 2015[58]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.