พระวรสารนักบุญมาระโก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวรสารนักบุญมาระโก (ศัพท์คาทอลิก) หรือ พระกิตติคุณมาระโก (ศัพท์โปรเตสแตนต์) (อังกฤษ: Gospel of Mark) เป็นพระวรสารในสารบบคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ และเป็นพระวรสารหนึ่งใน “พระวรสารสหทรรศน์” สามฉบับ
ผู้เขียนไม่ได้ระบุนามของตนเองไว้[1] แต่เชื่อกันทั่วไปว่าเขียนโดยมาระโกผู้นิพนธ์พระวรสาร ซึ่งเป็นบุตรชายของมารีย์[2] [ที่ไม่ใช่พระแม่มารีย์ (มารดาพระเยซู)] และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับบารนาบัส[3] มาระโกได้ร่วมเดินทางกับเปาโลและบารนาบัสในการเดินทาง เพื่อทำการประกาศข่าวดีครั้งแรก เปาโลกล่าวถึงมาระโกในฐานะของเพื่อนในกรุงโรมและยกย่องการรับใช้ของเขาเป็นอย่างสูง เชื่อกันว่าในบรรดาพระวรสารในสารบบทั้งสี่เล่ม พระวรสารนักบุญมาระโกถูกเขียนขึ้นเป็นฉบับแรก ในช่วงก่อนสงครามกลางเมืองในกรุงโรม เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้น่าจะถูกเขียนในราว ค.ศ.55
คริสตจักรยุคแรกมีความเห็นตรงกันว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ถอดแบบมาจากคำสอนของเปโตร โดยเน้นที่การบันทึกข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากลีลาการเขียนแสดงถึงการเขียนขึ้นอย่างเร่งรีบ ไม่ถูกผ่านการขัดเกลาให้สละสลวย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที การกระทำต่าง ๆ ที่ได้บันทึกไว้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสังเกตได้จากคำว่า "ในทันใดนั้น" ถูกใช้มากกว่า 40 ครั้ง แม้ว่า พระวรสารนักบุญมาระโก จะมีความยาวน้อยที่สุดในบรรดาพระวรสารทั้งสี่เล่ม แต่ในบางเหตุการณ์กลับถูกบันทึกไว้โดยละเอียด นอกจากนี้ ยังมีบางบทที่ได้อธิบายถึงขนบธรรมเนียมของชาวยิวไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านชาวโรมันจะเข้าใจได้
วัตถุประสงค์ของ พระวรสารนักบุญมาระโก มีอยู่ 4 ประการ โดยประการแรกสำคัญที่สุดคือ มาระโกต้องการให้ผู้อ่านทราบว่า ข่าวดีคืออะไร นั่นคือการที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปของเรา ถูกฝังไว้แล้วเป็นขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นมาระโกจึงให้ความสำคัญของเรื่องราวตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ จนถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูมากกว่าเรื่องอื่น หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 16 บท ใน 10 บทแรก บันทึกเรื่องราวตั้งแต่พระเยซูรับบัพติศมา จนถึงเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี ในขณะที่อีก 6 บทที่เหลือ เป็นการบันทึกเรื่องราวช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเยซู ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว แสดงให้เห็นว่ามาระโกต้องการเน้นว่า ข่าวดีคือหัวใจของหนังสือเล่มนี้
ประการที่สองที่มาระโกต้องการกล่าวคือ แม้ว่าพระเยซูคือพระบุตรพระเป็นเจ้า แต่พระเยซูทรงเป็นมนุษย์ พระองค์มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย หิวโหย อ่อนล้า ฯลฯ เหมือนกับมนุษย์ พระเยซูจึงทรงเป็นแบบอย่างในการตอบสนองต่อความรู้สึกต่าง ๆ ดังนั้นในฐานะของคริสต์ศาสนิกชน ทุกคนควรเรียนรู้จากพระองค์และตอบสนองด้วยท่าทีอย่างเดียวกัน
ประการที่สาม มาระโกเขียนเพื่อหนุนใจคริสเตียนที่ถูกกดขี่ข่มเหง เมื่อพระเยซูทรงยืนหยัดในขณะที่ถูกต่อต้าน จะเป็นกำลังใจให้กับคริสเตียนที่อยู่ในภาวะเดียวกันได้
ประการสุดท้าย มาระโกต้องการให้ผู้อ่านทราบถึงฤทธิ์อำนาจของพระเยซู ซึ่งมีชัยชนะเหนือผี โรคร้าย และความตายได้
พระวรสารนักบุญมาระโก ใช้ “มาระโก” หรือ “มก” ในการอ้างอิง
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.