พระเจ้าชาลส์ที่ 2[1] แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Charles II of England; 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1630 – 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และ ไอร์แลนด์ หลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ ในปี ค.ศ. 1660 จนกระทั่งการเสด็จสวรรคตของพระองค์ในปี ค.ศ. 1685

ข้อมูลเบื้องต้น ครองราชย์, ราชาภิเษก ...
พระเจ้าชาลส์ที่ 2
Thumb
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในฉลองพระองค์ชุดครุยเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ วาดโดยจอห์น ไมเคิล ไรท์ (John Michael Wright)
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์
ครองราชย์29 พฤษภาคม 1660[lower-alpha 1]
6 กุมภาพันธ์ 1685
ราชาภิเษก23 เมษายน 1661
ก่อนหน้าพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ
ถัดไปพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระมหากษัตริย์แห่งชาวสกอต
ครองราชย์30 มกราคม 1649 –
3 กันยายน 1651[lower-alpha 2]
ราชาภิเษก1 มกราคม 1651
ก่อนหน้าพระเจ้าชาลส์ที่ 1
ถัดไปสมัยรัฐบาลทหาร
พระราชสมภพ29 พฤษภาคม ค.ศ. 1630(1630-05-29)
(N.S.: 8 June 1630)
พระราชวังเซนต์เจมส์, ลอนดอน, อังกฤษ
สวรรคต6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685(1685-02-06) (54 ปี)
(N.S.: 16 February 1685)
พระราชวังไวต์ฮอล, ลอนดอน
ฝังพระบรมศพเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์, ลอนดอน
คู่อภิเษกกาตารีนาแห่งบรากังซา
พระราชบุตร
more...
  • นอกสมรส:
  • เจมส์ สกอตต์ ดยุกที่ 1 แห่งมอนมัธ
  • ชาลส์ เอิร์ลแห่งพลีมอธ
  • ชาลส์ ดยุกแห่งคลีฟแลนด์
  • ชาร์ล็อต เคาน์เตสแห่งลิชฟิลด์
  • เฮนรี ดยุกแห่งกราฟตัน
  • จอร์จ ดยุกแห่งนอร์ธทัมเบอร์แลนด์
  • ชาลส์ ดยุกแห่งเซนออบานส์
  • ชาลส์ ดยุกแห่งริชมอน
ราชวงศ์ราชวงศ์สจวต
พระราชบิดาพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์
พระราชมารดาอ็องเรียต มารีแห่งฝรั่งเศส
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ
คริสตจักรโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธยThumb
ปิด

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1630 ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและสมเด็จพระราชินีอ็องเรียต มารี ได้อภิเษกสมรสกับพระนางกาตารีนา และครองสกอตแลนด์ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 ถึงวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1651 และ อังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 พระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 ที่พระราชวังไวท์ฮอลในกรุงลอนดอน

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 เป็นพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายหลังจากพระราชบิดาพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ถูกประหารชีวิตที่พระราชวังไวต์ฮอลเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 แต่รัฐสภาอังกฤษมิได้ประกาศแต่งตั้งให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์และผ่านบัญญัติว่าเป็นการดำรงตำแหน่งของพระองค์เป็นการผิดกฎหมาย จึงเกิดช่วงว่างระหว่างรัชกาลในอังกฤษ แต่ทางรัฐสภาสกอตแลนด์ประกาศให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ของชาวสกอตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1649 ที่เอดินบะระ และรับพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1651 หลังจากที่พ่ายแพ้ยุทธการวูสเตอร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1651 พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็เสด็จหนีไปยุโรปภาคพื้นทวีปและไปประทับลี้ภัยเป็นเวลา 9 ปีในประเทศฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ของสเปน

หลังจากที่รัฐบาลสาธารณรัฐภายใต้การนำของริชาร์ด ครอมเวลล์ล่มในปี ค.ศ. 1659 นายพลจอร์จ มองค์ก็อัญเชิญชาลส์ให้กลับมาเป็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษในสมัยที่เรียกกันว่า “การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ” พระเจ้าชาลส์ที่ 2 เสด็จกลับถึงอังกฤษเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 และเสด็จเข้าลอนดอนในวันประสูติครบ 30 พรรษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 และทรงได้รับการราชาภิเศกเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษและ ไอร์แลนด์เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1660

รัฐสภาภายใต้การนำของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ออกพระราชบัญญัติต่อต้านพิวริตันที่รู้จักกันในชื่อ “ประมวลกฎหมายแคลเรนดัน” (Clarendon code) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหนุนสถานะของคริสตจักรแห่งอังกฤษ แม้ว่าในทางส่วนพระองค์แล้วพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จะทรงสนับสนุนนโยบายความมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ตาม ส่วนปัญหาใหญ่ในด้านการต่างประเทศในต้นรัชสมัยก็คือการสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1670 พระเจ้าชาลส์ทรงไปทำสัญญาลับกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่ระบุว่าฝรั่งเศสจะช่วยอังกฤษในสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สาม และจะถวายเงินบำนาญแก่พระองค์โดยมีข้อแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าชาลส์ต้องสัญญาว่าจะเปลื่ยนจากการนับถือนิกายแองกลิคันไปเป็นการนับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่พระเจ้าชาลส์มิได้ทรงระบุเวลาที่แน่นอนในเรื่องการเปลี่ยนนิกาย แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงพยายามเพิ่มสิทธิและเสรีภาพให้แก่ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ต่าง ๆ มากขึ้นโดยการออกพระราชปฏิญญาพระคุณการุญในปี ค.ศ. 1672 แต่รัฐสภาบังคับให้ทรงถอนในปี ค.ศ. 1679

ในปี ค.ศ. 1679 ไททัส โอตส์สร้างข่าวลือเรื่อง “การลอบวางแผนโพพิช” ที่เป็นผลให้เกิดวิกฤตกาลการกีดกัดต่อมา เมื่อเป็นที่ทราบกันว่าดยุกแห่งยอร์กพระอนุชาของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และรัชทายาทผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2เปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บ้านเมืองแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย ฝ่ายวิกสนับสนุนการยกเว้นไม่ให้ดยุกแห่งยอร์กขึ้นครองราชย์และฝ่ายทอรีต่อต้านการยกเว้น พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงเข้าข้างฝ่ายหลัง หลังจากที่ผู้ก่อการโปรเตสแตนต์วางแผน “การลอบวางแผนไรย์เฮาส์” ที่จะปลงพระองค์เองและดยุกแห่งยอร์กในปี ค.ศ. 1683 ที่ทำให้ผู้นำพรรควิกหลายคนถูกประหารชีวิตหรือถูกเนรเทศ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 จึงทรงยุบสภาในปี ค.ศ. 1679 และทรงราชย์โดยไม่มีรัฐสภาจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 ก่อนจะเสด็จสวรรคตพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็ทรงเปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิกบนพระแท่นที่ประชวร

พระเจ้าชาลส์ไม่มีพระราชโอรสธิดากับพระนางกาตารีนาแห่งบรากังซา เพราะพระนางทรงเป็นหมัน แต่ทรงยอมรับว่ามีพระราชโอรสธิดานอกสมรส 12 องค์กับพระสนมหลายคน พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงเป็นที่รู้จักกันในพระนาม “ราชาเจ้าสำราญ” (Merrie Monarch) ซึ่งหมายถึงการใช้ชีวิตในราชสำนักของพระองค์ที่เต็มไปด้วยความสนุกสำราญซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ถูกเก็บกดมาเป็นเวลานานภายใต้การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์และกลุ่มพิวริตัน

เบื้องต้น

Thumb
พระเจ้าชาลส์ที่ 2 เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงยืนข้างพระเจ้าชาลส์ที่ 1 พระราชบิดา พระนางเฮนเรียตตา มาเรีย พระราชมารดาทรงอุ้มดยุกแห่งยอร์ก พระอนุชา
Thumb
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เมื่อทรงเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์โดย วิลเลียม ดอบสัน ราว ค.ศ. 1642 หรือ ค.ศ. 1643

พระเจ้าชาลส์ สจวตพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งสกอตแลนด์และไอร์แลนด์และพระนางอ็องเรียต มารี เสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังเซนต์เจมส์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1630 และทรงรับบับติศมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนโดยบิชอปวิลเลียม ลอด จากแองกลิคันผู้ขณะดำรงตำแหน่งเป็นบิชอปแห่งลอนดอน และทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยแมรี แซกวิลล์ เคาน์เตสแห่งดอร์เซตผู้เป็นโปรเตสแตนต์ แต่ทรงมีพ่อแม่ทูลหัวเป็นโรมันคาทอลิกที่เป็นพระประยูรญาติทางพระมารดา ที่รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศสและพระนางมารี เด เมดีชีพระราชมารดาของพระเจ้าหลุยส์[2] พระองค์ทรงได้รับตำแหน่งดยุกแห่งคอร์นวอลล์และดยุกแห่งรอธซี เมื่อประสูติในฐานะที่เป็นพระราชโอรสองค์โตของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีพระชนมายุได้ 8 พรรษาก็ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์แต่มิได้มีพิธีแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ[3]

ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1640 เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระราชบิดาทรงต่อสู้กับกองทัพของฝ่ายรัฐสภาและพิวริตันในสงครามกลางเมืองอังกฤษ เจ้าชายชาลส์ทรงติดตามพระราชบิดาในยุทธการที่เอจฮิลล์ เมื่อมีพระชนมายุได้ 14 พรรษาก็ทรงเข้าร่วมในการรณรงค์ใน ค.ศ. 1645 และทรงได้รับแต่งตั้งแต่ในนามให้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารแห่งเวสต์คันทรี[4] ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1646 พระราชบิดาก็พ่ายแพ้สงคราม เจ้าชายชาลส์จึงเสด็จหนีจากอังกฤษเพื่อความปลอดภัย โดยเสด็จไปหมู่เกาะซิลลีย์ก่อนที่จะเสด็จต่อไปเจอร์ซีย์ และในที่สุดก็ไปถึงฝรั่งเศสเพื่อไปสมทบกับพระราชมารดาประทับลี้ภัยอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว พร้อมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา[5]

ในปี ค.ศ. 1648 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2 เจ้าชายชาลส์ก็ทรงย้ายไปเฮกในเนเธอร์แลนด์ไปประทับกับเจ้าหญิงแมรีสจ๊วต (Mary Stuart) และวิลเลียมที่ 2 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ พระสวามีเพราะทรงเชื่อว่าทั้งสองพระองค์อาจจะทรงสนับสนุนฝ่ายนิยมกษัตริย์มากกว่าพระญาติทางฝรั่งเศส[6] เมื่อทรงพยายามยกกองทัพไปช่วยพระราชบิดาแต่กองทัพภายใต้การนำของพระองค์ไปถึงสกอตแลนด์ไม่ทันที่จะสมทบกับกองกำลัง “Engagers” ที่สนับสนุนพระราชบิดาที่นำโดยเจมส์ แฮมิลตัน ดยุกที่ 1 แห่งแฮมิลตัน ก่อนที่จะพ่ายแพ้ในยุทธการที่เพรสตันในปี ค.ศ. 1648[7] ระหว่างที่ประทับอยู่ที่กรุงเฮกเจ้าชายชาลส์ทรงมีความสัมพันธ์กับลูซี วอลเตอร์อยู่พักหนึ่ง ผู้ต่อมาถึงกับอ้างว่าได้เจ้าชายชาลส์ทรงแต่งงานอย่างลับ ๆ ด้วย[8] ชาลส์มีพระโอรสกับลูซี วอลเตอร์คนหนึ่งคือเจมส์ ครอฟต์ส (ต่อมาเป็นเจมส์ สกอตต์ ดยุกที่ 1แห่งมอนมัธ ผู้ต่อมากลายมามีบทบาทสำคัญในทางการเมืองของอังกฤษ)

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 พระราชบิดาของพระองค์ ทรงถูกจับกุมในปี ค.ศ. 1647 ทรงหลบหนีจากการคุมขังได้แต่ก็มาทรงถูกจับอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1648 แม้ว่าเจ้าชายชาลส์จะทรงพยายามหาทางช่วยทางการทูตในการปลดปล่อยพระองค์แต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็ทรงถูกปลงพระชนม์ในข้อหากบฏต่อแผ่นดินเมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 หลังจากนั้นอังกฤษก็เข้าสู่สมัยสาธารณรัฐ

ปัญหาและการหลบหนี

ทันทีที่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 เสด็จสวรรคตรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ก็ประกาศแต่งตั้งให้เจ้าชาย ชาลส์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ต่อจากพระราชบิดาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1649 แต่ทรงต้องยอมรับข้อแม้บางประการ พระเจ้าชาลส์ทรงจำยอมตามเงื่อนไขของรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ใน สนธิสัญญาเบรดาในปี ค.ศ. 1650 ที่สนับสนุน “Solemn League and Covenant” ในการใช้การจัดระเบียบองค์การแบบเพรสไบทีเรียนทั่วดินแดนอังกฤษ เมื่อเสด็จมาถึงสกอตแลนด์ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1650 พระเจ้าชาลส์ก็ทรงตกลงตามข้อสัญญาอย่างเป็นทางการ แม้ว่าการละทิ้งการจัดระเบียบองคืการแบบอีพิสโคปัล จะทำให้ทรงเป็นที่นิยมในสกอตแลนด์แต่นโยบายดังกล่าวทำให้ความนิยมพระองค์ในอังกฤษลดถอยลง แต่ต่อมาพระองค์เองก็ทรงไม่พอพระทัยกับ “ความหน้าไหว้หลังหลอก” ของ กลุ่มคัฟเวอร์นันต์ (Covenanters) [9]

Thumb
พระเจ้าชาลส์

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1650 กลุ่มคัฟเวอร์นันต์ก็พ่ายแพ้ในยุทธการที่ดันบาร์ต่อกองทหารที่มึกำลังน้อยกว่าที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ฝ่ายสก็อตถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย -- ฝ่าย “Engagers” และฝ่ายเพรสไบทีเรียน “คัฟเวอร์นันเตอร์” ซึ่งบางครั้งก็สู้กันเอง -- สมเด็จพระเจ้าชาลส์ทรงไม่พอพระทัยในกลุ่มคัฟเวอร์นันต์หนักขึ้นจนต้องทรงพยายามทรงม้าหลบหนีไปสมทบกับฝ่าย “Engagers” ในเดือนตุลาคมในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “การเริ่มต้น” แต่เพียงสองวันต่อมากลุ่มเพรสไบทีเรียนก็ตามมาไปนำพระองค์กลับมา[10] แต่จะอย่างไรก็ตามสกอตแลนด์ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญในโอกาสที่จะกู้ราชบัลลังก์อังกฤษคืน พระเจ้าชาลส์ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ที่สโคนเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1651 เมื่อทรงเห็นว่ากองทัพของครอมเวลล์เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของสกอตแลนด์พระเจ้าชาลส์ก็ทรงตัดสินพระทัยยกกองทัพไปรุกรานอังกฤษ แม้ว่าชาวสกอตและฝ่ายนิยมกษัตริย์หลายคนจะไม่ยอมร่วมมือ พระองค์ทรงนำทัพลงอังกฤษแต่ก็ไปทรงพ่ายแพ้ที่ยุทธการวูสเตอร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1651 หลังจากนั้นก็ทรงต้องหลบหนีและครั้งหนึ่งทรงไปซ่อนพระองค์อยูในโพรงต้นโอ้คที่คฤหาสน์บอสโคเบล (Boscobel House) พระเจ้าชาลส์ทรงหลบหนีอยู่หกอาทิตย์ก่อนที่ออกจากอังกฤษได้ และทรงไปขึ้นฝั่งนอร์ม็องดีในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม แม้ว่าจะมีค่าพระเศียรถึง £1,000 และการปลอมพระองค์หลบหนีก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะทรงสูงกว่า 6 ฟุต (185 ซม.) แต่ก็ไม่มีผู้ใดทรยศส่งตัวพระองค์ให้ฝ่ายรัฐสภา[11][12]

ทางด้านอังกฤษการแต่งตั้งครอมเวลล์ให้เป็น“เจ้าผู้อารักขา” ของเกาะอังกฤษก็เท่ากับเป็นการทำให้อังกฤษตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้เผด็จการทหาร เมื่อพระเจ้าชาลส์ไม่ทรงมีรัฐบาลสนับสนุนพระองค์ก็ไม่ทรงมีทางที่หาทุนพอที่จะต่อต้านรัฐบาลของครอมเวลล์อย่างมีประสิทธิภาพได้ แม้ว่าจะทรงมีความเกี่ยดองกับเจ้าหญิงแมรีแห่งออเรนจ์และพระนางเฮนเรียตตา มาเรีย พระราชมารดาแต่ทั้งเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสก็หันมาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลของครอมเวลล์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1654 ซึ่งทำให้ทรงต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากสเปนซึ่งขณะนั้นปกครองเนเธอร์แลนด์ตอนใต้อยู่ พระเจ้าชาลส์ทรงพยายามรวบรวมกองทัพอีกแต่ก็ไม่ทรงประสบความสำเร็จเพราะการขาดทุนทรัพย์[13]

การฟื้นฟูราชวงศ์

ดูบทความหลักที่ การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ

Thumb
พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1660

หลังจากครอมเวลล์ถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1658 ในระยะแรกก็ดูเหมือนว่าโอกาสในการที่พระเจ้าชาลส์จะได้กลับมาครองราชบัลลังก์อังกฤษก็เหมือนจะไม่มีเพราะริชาร์ด ครอมเวลล์สืบตำแหน่งในฐานะ “เจ้าผู้อารักขา” ต่อจากบิดา แต่ริชาร์ดไม่มีสมรรภาพทั้งทางการปกครองและทางทหารในที่สุดก็ต้องลาออกในปี ค.ศ. 1659 รัฐบาลผู้อารักขาจึงถูกยุบเลิก หลังจากนั้นบ้านเมืองก็เกิดความระส่ำระสาย จนจอร์จ มองค์ ดยุกที่ 1 แห่งอัลเบอมาร์ลข้าหลวงแห่งสกอตแลนด์มีความหวาดกลัวว่าบ้านเมืองจะกลายเป็นอนาธิปไตย[14] มองค์จึงยกทัพลงมานครลอนดอนและบังคับให้รัฐสภารัมพ์เรียกสมาชิกรัฐสภายาวกลับมาทำหน้าที่ตามเดิมยกเว้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1648 ระหว่างการยึดรัฐสภาของไพรด์ ในที่สุดรัฐสภายาวก็ยุบตัวเองหลังจากที่อยู่ในสมัยประชุมมากว่ายี่สิบปีโดยไม่มีการปิดประชุม และเปิดการเลือกตั้งทั่วไป[15] ก่อนที่รัฐบาลจะลาออกก็ได้ออกกฎการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเพื่อที่จะพยายามให้ได้เสียงข้างมากเป็นฝ่ายเพรสไบทีเรียน[16]

ถึงจะมีกฎเกี่ยวกับผู้สมัครและผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ก็ไม่มีผู้สนใจปฏิบัติตามข้อจำกัดที่มาจากฝ่ายนิยมกษัตริย์เท่าใดนัก ผลของการเลือกตั้งของสมาชิกรัฐสภาระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายสภานิยมจีงมีจำนวนพอ ๆ กัน และทางศาสนาระหว่างอังกลิคันและเพรสไบทีเรียนก็เช่นกัน[16] สภาใหม่ที่รู้จักกันในชื่อรัฐสภาคอนเวนชันเริ่มสมัยประชุมแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1660 และไม่นานหลังจากนั้นก็ได้ข่าวการลงพระนามของพระเจ้าชาลส์ในสนธิสัญญาเบรดาที่ในข้อหนึ่งระบุว่าจะพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อพระราชบิดา รัฐสภาอังกฤษจึงอนุมัติให้ประกาศพระเจ้าชาลส์เป็นพระมหากษัตริย์และอัญเชิญพระองค์กลับมาจากการลี้ภัย พระองค์ทรงได้รับข่าวนี้ที่เบรดาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1660[17] ส่วนในไอร์แลนด์ก็มีการเรียกประชุมตอนต้นปีและในวันที่ 14 พฤษภาคม ไอร์แลนด์ก็ประกาศให้พระเจ้าชาลส์เป็นพระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์[18]

พระเจ้าชาลส์จึงเสด็จกลับอังกฤษโดยเสด็จขึ้นฝั่งที่โดเวอร์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 และเสด็จมาถึงลอนดอนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นวันแรกของ “การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ” และเป็นวันเดียวกับวันครบรอบวันพระราชสมภพครบ 30 พรรษา แม้ว่าพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาจะประกาศให้อภัยโทษแก่ผู้สนับสนุนครอมเวลล์ตามที่ระบุใน “พระราชบัญญัติการให้อภัยโทษแก่ผู้คิดร้ายต่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1” (Act of Indemnity and Oblivion) แต่พระราชบัญญัติมิได้ให้อภัยโทษแก่ผู้เป็นปฏิปักษ์ 50 คนที่มีบทบาทในการปลงพระชนม์[19] ในที่สุด 9 คนในบรรดาผู้มีชื่อในรายนามผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก็ถูกประหารชีวิต[20] โดยการแขวนคอ ควักใส้และผ่าสี่ตามบทการลงโทษฐานกบฏต่อแผ่นดิน ผู้อื่นในรายการถูกจำคุกตลอดชีวิตหรือถูกปลดจากหน้าที่ราชการตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วก็ถูกขุดร่างขึ้นมาลงโทษซึ่งรวมทั้งร่างของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์, เฮนรี ไอร์ตัน และจอห์น แบรดชอว์ (John Bradshaw) [21]

พระเจ้าชาลส์ทรงยอมยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนายต่าง ๆ ที่ได้รับการนำกลับมาใช้โดยพระราชบิดา เพื่อเป็นการตอบแทนรัฐบาลก็อนุมัติค่าใช้จ่ายให้แก่พระองค์เป็นจำนวน £1,200,000 ต่อปี ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากการเก็บภาษีศุลกากรที่เก็บมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล แต่เงินจำนวนที่ว่านี้ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของพระองค์จนตลอดรัชสมัย จำนวนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนที่ระบุไว้ว่าเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่จะทรงเบิกได้จากรัฐบาล แต่ตามความเป็นจริงแล้วรัฐบาลมีรายได้น้อยกว่าจำนวนที่ระบุมาก ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดการสร้างหนี้อย่างมหาศาลซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลต้องพยายามหากลวิธีต่าง ๆ ในการหารายได้เพิ่มรวมทั้งการเรียกเก็บภาษีท้องถิ่น ภาษีที่ดิน และ ภาษีปล่องไฟเป็นต้น

ในครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 1660 ความสุขของพระเจ้าชาลส์ในการที่ได้กลับมาครองราชบัลลังก์ก็ต้องมาหยุดชะงักลงเมื่อเฮนรี สจวต ดยุกแห่งกลอสเตอร์พระอนุชาองค์สุดท้องและเจ้าหญิงแมรีพระขนิษฐามาสิ้นพระชนม์ไม่นานจากกันนักด้วยฝีดาษ ในขณะเดียวกันแอนน์ ไฮด์บุตรสาวของอัครมหาเสนาบดีเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ก็ประกาศว่ามีครรภ์กับเจ้าชายเจมส์พระอนุชา และทั้งสองได้ทำการแต่งงานกันอย่างลับ ๆ เอ็ดเวิร์ด ไฮด์ผู้ไม่ทราบทั้งเรื่องการแต่งงานและการมีครรภ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งแคลเรนดัน[22]

รัฐสภาคอนเวนชันถูกยุบเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1661 รัฐสภาที่สองของรัชสมัยก็เริ่มสมัยประชุม รัฐสภานี้เรียกว่า “รัฐสภาคาวาเลียร์” เพราะสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้นิยมกษัตริย์และเป็นอังกลิคัน จุดหมายก็เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความมีอิทธิพลของอังกลิคันโดยการผ่านพระราชบัญญัติหลายฉบับ รวมทั้งฉบับสำคัญสี่ฉบับที่ได้แก่:

  • พระราชบัญญัติสวามิภักดิ์ ค.ศ. 1661 (Corporation Act 1661) ซึ่งระบุให้ผู้รับราชการระดับท้องถิ่นต้องสาบานความความสวามิภักดิ์[23]
  • พระราชบัญญัติสมานฉันท์ ค.ศ. 1662 (Act of Uniformity 1662) ที่บังคับการใช้หนังสือสวดมนต์สามัญ (Book of Common Prayer)
  • พระราชบัญญัติการชมรม ค.ศ. 1664 (Conventicle Act 1664) ซึ่งห้ามการพบปะทางศาสนาของกลุ่มชนเกินกว่าห้าคนนอกไปจากว่าจะจัดโดยนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ และ
  • พระราชบัญญัติห้าไมล์ ค.ศ. 1665 (Five Mile Act 1665) ที่ห้ามมิให้นักบวชที่ถูกห้ามเข้าวัดกลับมาที่วัดที่เคยประจำภายในรัศมี 5 ไมล์

พระราชบัญญัติการชมรมและพระราชบัญญัติห้าไมล์บังคับใช้ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ พระราชบัญญัติทั้งสี่เรียกรวมกันว่า “ประมวลกฎหมายแคลเรนดัน” ตามชื่อเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอน แม้ว่าแคลเร็นดอนเองจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกพระราชบัญญัติก็ตาม และนอกจากนั้นก็ยังทำการปราศัยต่อต้านพระราชบัญญัติห้าไมล์เองอีกด้วย[24]

กาฬโรคและเพลิงไหม้

ดูบทความหลักที่ โรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน และ อัคคีภัยครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666

Thumb
ภาพวาดเพลิงใหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 โดยจิตรกรนิรนามแสดงเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในช่วงเย็นวันอังคาร โดยมองจากเรือที่อยู่ใกล้ ๆ อู่เรือแคเธอริน หอคอยลอนดอนอยู่ด้านขวาและสะพานลอนดอนอยู่ด้านซ้าย ในภาพจะเห็นมหาวิหารเซนต์พอลอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเปลวเพลิงที่สูง

ในปี ค.ศ. 1665 พระเจ้าชาลส์ทรงต้องประสบวิกฤติการณ์สองอย่าง: โรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วงที่สูงที่สุดในอาทิตย์ที่ 17 กันยายนเป็นจำนวนถึง 7,000 คน[25] พระเจ้าชาลส์และครอบครัวเสด็จหนีการระบาดของโรคจากลอนดอนไปประทับที่ซอลท์สบรีทางใต้ของอังกฤษในเดือนกรกฎาคม; ส่วนรัฐสภาย้ายไปตั้งอยู่ที่ออกซฟอร์ด[26] ความพยายามต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะหยุดยั้งการเผยแพร่ของโรคระบาดล้มเหลว โรคก็ยังระบาดอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป[27]จนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่

นอกไปจากการระบาดของกาฬโรคแล้วลอนดอนก็ยังประสบความเสียหายอย่างหนักจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันว่า “เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน” ที่เริ่มเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1666 ซึ่งเป็นการหยุดยั้งการระบาดของกาฬโรคไปในตัว ไฟครั้งนี้ไหม้บ้านเรือนไปทั้งสิ้น 13,200 หลังและคริสต์ศาสนสถานอีก 87 แห่งรวมทั้งมหาวิหารเซนต์พอล[28] พระเจ้าชาลส์และพระอนุชาเจมส์ทรงบริหารและช่วยในการหยุดยั้งเพลิงไหม้ด้วยพระองค์เอง ประชาชนกล่าวหาว่านิกาย[[]]มีส่วนในการทำให้เกิดเพลิงไหม้[29] แต่อันที่จริงแล้วสาเหตุที่แท้จริงไฟเริ่มที่ร้านอบขนมปังที่ซอยพุดดิง[28]

นโยบายการต่างประเทศและการอาณานิคม

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1662 พระเจ้าชาลส์อภิเษกสมรสที่มหาวิหารพอร์ทสมัธกัยเจ้าหญิงแคเธอรินแห่งบราแกนซาจาก[3]โปรตุเกส ผู้ที่ทรงมากับสินสมรสที่ประกอบด้วยอาณานิคมบอมเบย์ และ ทานเจียร์ ในปีเดียวกันพระเจ้าชาลส์ก็ทรงขายดังเคิร์คซึ่งขัดกับความนิยมโดยทั่วไปเพราะดังเคิร์คเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ที่จุดยุทธศาตร์สำคัญของอังกฤษบนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป แต่เป็นเมืองที่ต้องทรงเสียค่าบำรุงรักษาสูง[30] ที่ต้องทรงจ่ายให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสเป็นจำนวน £375,000 ต่อปี[31]

เพื่อเป็นการแสดงความขอบใจในการที่ขุนนางบางคนช่วยให้พระองค์ได้ราชบัลลังก์คืนพระเจ้าชาลส์พระราชทานดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือในบริเวณที่ขณะนั้นเรียกว่าแคว้นแคโรไลนา (Province of Carolina) ที่ขนานนามตามพระราชบิดาให้แก่ขุนนางแปดคนที่รู้จักกันในชื่อ “Lords Proprietors” ในปี ค.ศ. 1663

Thumb
พระเจ้าชาลส์ที่ 2

ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เสียผลประโยชน์ทางการค้าเป็นอันมากจากการที่อังกฤษบังคับใช้พระราชบัญญัติการใช้เรือในการค้าขายกับอาณานิคมที่ออกในปี ค.ศ. 1650 ที่จำกัดการใช้ต่างประเทศในการค้าขายกับอาณานิคม ซึ่งทำให้อังกฤษมีเอกสิทธิในการใช้เรือของตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1652 ถึงปี ค.ศ. 1654 ส่วนสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สองระหว่างปี ค.ศ. 1665 ถึงปี ค.ศ. 1667 เริ่มด้วยการที่อังกฤษพยายามขยายอำนาจในดินแดนที่เป็นของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาเหนือ ความขัดแย้งเริ่มด้วยดีสำหรับฝ่ายอังกฤษโดยการยึดนิวอัมสเตอร์ดัม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนิวยอร์กเพื่อเป็นเกียรติแก่พระอนุชาเจมส์ผู้ทรงมีตำแหน่งเป็น “ดยุกแห่งยอร์ก”) และชัยชนะในยุทธการที่โลว์สตอฟต์แต่ในปี ค.ศ. 1667 ฝ่ายเนเธอร์แลนด์โจมตีอังกฤษในการจู่โจมที่เม็ดเวย์ (Raid on the Medway) โดยที่ฝ่ายเนเธอร์แลนด์ล่องเรือขึ้นแม่น้ำเทมส์ขึ้นมาตรงจุดที่กองเรืออังกฤษเทียบ เรือเกือบทั้งหมดถูกล่มยกเว้นแต่เรือธง “เรือรบหลวงสมเด็จพระเจ้าชาลส์” ที่ถูกนำกลับไปตั้งแสดงที่เนเธอร์แลนด์[32] สงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สองจบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเบรดา) ในปี ค.ศ. 1667

หลังจากแพ้สงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สองพระเจ้าชาลส์ก็ทรงใช้เอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเรนดันเป็นแพะรับบาปโดยทรงปลดจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี[33] และตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดินซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต แคลเร็นดอนจึงหลบหนีไปฝรั่งเศส อำนาจการเมืองจึงตกไปเป็นของกลุ่มนักการเมืองห้าคนที่เรียกว่า องคมนตรีคาบาลที่ประกอบด้วยทอมัส คลิฟฟอร์ด บารอนคลิฟฟอร์ดที่ 1, เฮนรี เบ็นเน็ท เอิร์ลแห่งอาร์ลิงตันที่ 1, จอร์จ วิลเลียรส์ ดยุกแห่งบัคคิงแฮมที่ 2, แอนโทนี แอชลีย์ คูเปอร์ เอิร์ลแห่งชาฟส์บรีที่ 1 และ จอห์น เมทแลนด์ ดยุกแห่งลอเดอร์เดลที่ 1 องคมนตรีคาบาลมิได้ประสานการทำงานกันอย่างดีเสมอไป ราชสำนักมักจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ๆ หนึ่งนำโดยเอิร์ลแห่งอาร์ลิงตันและอีกฝ่ายหนึ่งโดยดยุกแห่งบัคคิงแฮม โดยที่อาร์ลิงตันมีภาษีดีกว่า[34]

ในปี ค.ศ. 1668 อังกฤษไปเป็นพันธมิตรกับสวีเดนและเนเธอร์แลนด์ศัตรูเก่าในการเป็นต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในสงครามขยายดินแดนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระเจ้าหลุยส์ทรงทำสัญญาสันติภาพกับกลุ่มสามพันธมิตร ใน ค.ศ. 1668 แต่ก็ยังทรงมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อเนเธอร์แลนด์

ในปี ค.ศ. 1670 พระเจ้าชาลส์ทรงพยายามแก้ปัญหาทางการเงินของพระองค์โดยการลงพระนามตกลงในสนธิสัญญาโดเวอร์กับสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ระบุว่าพระเจ้าหลุยส์ต้องจ่ายเงินให้พระองค์เป็นจำนวน £160,000 ต่อปีเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ทรงส่งกองทหารให้สมเด็จพระเจ้าหลุยส์และการประกาศว่าจะทรงเปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิก “ทันทีที่สถานะการณ์ในพระราชอาณาจักรของพระองค์เปิดโอกาสให้ทรงทำ”[35] และสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ทรงตกลงที่จะส่งกองทหารจำนวน 6,000 คนไปกำหราบผู้ขัดแย้งต่อการเปลี่ยนศาสนาของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ทรงกำชับให้เก็บสนธิสัญญาเป็นความลับโดยเฉพาะในส่วนที่ทรงตั้งใจที่จะเปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิก[36] แต่ก็ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าสมเด็จพระเจ้าชาลส์จะทรงตั้งพระทัยที่จะเปลี่ยนนิกายจริงหรือไม่[18]

ขณะเดียวกันพระเจ้าชาลส์พระราชทานลิขสิทธิ์ให้แก่ บริษัทบริติชอีสต์อินเดีย (British East India Company) ในการแสวงหาอาณานิคม, ในการพิมพ์เงิน, ในการรักษาป้อมและกองทหาร, ในการสร้างพันธมิตร, ในการสร้าสงครามและสันติภาพและในการมีอำนาจทางด้านการศาลทั้งทางคดีแพ่งและคดีอาญาในบริเวณการปกครองที่ได้มาในอินเดีย[37] เมื่อต้นปี ค.ศ. 1668 พระเจ้าชาลส์ทรงให้เกาะบอมเบย์เช่าเป็นจำนวนเพียง £10 ที่จ่ายด้วยทองคำ[38] ดินแดนในการยึดครองของโปรตุเกสในอินเดียที่พระนางแคเธอรินแห่งบราแกนซานำมาเมื่อเสกสมรสก็แพงเกินกว่าที่จะบำรุงรักษาได้ ในที่สุดก็ทรงละทิ้งทานเจียร์[39]

ในปี ค.ศ. 1670 พระเจ้าชาลส์ก็พระราชทานใบอนุญาตในการก่อตั้งบริษัทฮัดสันเบย์ (Hudson's Bay Company) ซึ่งกลายมาเป็นบริษัทที่เก่าที่สุดในประเทศแคนาดา ที่เริ่มด้วยกิจการการค้าขายขนสัตว์ที่ทำเงินได้ดีกับชนพื้นเมือง และในที่สุดก็ได้เป็นเจ้าของปกครองที่ดินอาณานิคมในบริเวณประมาณ 7,770,000 ตารางกิโลเมตร (3,000,000 ตารางไมล์) ของทวีปอเมริกาเหนือ[40]

ความขัดแย้งกับรัฐสภา

Thumb
พระเจ้าชาลส์ทรงได้รับสับปะรดผลแรกที่ปลูกในอังกฤษ (ค.ศ. 1675 ภาพเขียนโดยเฮ็นดริค ดันเคิรตส์)

แม้ว่าเมื่อเริ่มแรกรัฐสภาจะสนับสนุนพระเจ้าชาลส์แต่นโยบายทางการศาสนาและการสงครามของพระองค์ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1670 ทำให้รัฐบาลคาวาเลียร์เกิดความแตกแยกจากพระองค์ ในปี ค.ศ. 1672 พระเจ้าชาลส์ทรงออกพระราชปฏิญญาพระคุณการุญที่หยุดยั้งการลงโทษทางกฎหมายอาญาต่อผู้นับถือโรมันคาทอลิกและผู้เป็นปฏิปักษ์ทางศาสนาทั้งหมด ในปีเดียวกันก็ทรงหันไปสนับสนุนฝรั่งเศสโรมันคาทอลิกอย่างเปิดเผยและทรงเริ่มสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สาม[41]

รัฐบาลคาวาเลียร์มีปฏิกิริยาต่อต้านพระราชปฏิญญาเพราะเป็นการออกพระราชประกาศที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ (โดยอ้างว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีสิทธิในการระงับกฎหมายโดยปราศจากเหตุผล) แทนที่จะขัดกับเหตุผลทางการเมือง สมเด็จพระเจ้าชาลส์ทรงถอนพระราชประกาศและทรงยอมตกลงใน พระราชบัญญัติทดสอบ (Test Act) ซึ่งไม่แต่จะเรียกร้องให้ผู้รับราชการต้องรับยูคาริสต์ตามแบบที่คริสตจักรแห่งอังกฤษระบุ[42] แต่ยังบังคับให้ประณามคำสอนบางอย่างของนิกายโรมันคาทอลิกว่าเป็น “ความเชื่องมงายและการบูชารูปเคารพ”[43] บารอนคลิฟฟอร์ดผู้เปลี่ยนไปนับถือโรมันคาทอลิกลาออกแทนที่จะยอมปฏิญาณตามกฎที่ออกใหม่ไม่นานก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรม ภายในปี ค.ศ. 1674 อังกฤษก็ไม่มีความคืบหน้าในสงครามกับเนเธอร์แลนด์ ทางฝ่ายรัฐบาลคาวาเลียร์ไม่ยอมออกทุนในการทำสงครามต่อ ซึ่งเป็นการบังคับให้พระเจ้าชาลส์หาวิธีสงบศึก อำนาจขององคมนตรีคาบาลก็เริ่มลดน้อยลงในขณะเดียวกันอำนาจของทอมัส ออสบอร์น ดยุกแห่งลีดส์ที่ 1 หรือลอร์ดแดนบีย์ ผู้ที่มาแทนบารอนคลิฟฟอร์ดก็เพิ่มมากขึ้น

ในด้านส่วนพระองค์พระนางแคเธอรินแห่งบราแกนซาไม่ทรงสามารถมีพระราชโอรสธิดาได้ ทรงตั้งครรภ์สี่ครั้งแต่ก็จบลงด้วยการแท้งหรือสิ้นพระชนม์ในพระครรภ์ในปี ค.ศ. 1662, กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1666, พฤษภาคม ค.ศ. 1668 และมิถุนายน ค.ศ. 1669[3]รัชทายาทโดยสันนิษฐาน” จึงเป็นเจมส์ ดยุกแห่งยอร์กพระอนุชาผู้ที่เป็นโรมันคาทอลิกผู้ที่ไม่ทรงเป็นที่นิยมแก่ประชาชน เพื่อที่จะบรรเทาความระแวงของประชาชนว่าราชสำนักเอียงไปทางโรมันคาทอลิกมากเกินไปสมเด็จพระเจ้าชาลส์จึงทรงจัดการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงแมรีพระธิดาองค์โตของดยุกแห่งยอร์กกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ผู้เป็นโปรเตสแตนต์[44]

ในปี ค.ศ. 1678, ไททัส โอตส์ผู้เคยเป็นทั้งอังกลิคันและอดีตนักบวชคณะเยสุอิตสร้างข่าวลือเรื่อง “การลอบวางแผนโพพิช” ที่เป็นข่าวลือที่กล่าวว่าเป็นแผนการที่จะปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ และกล่าวพาดพิงว่าพระราชินีแคทเธอรีนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนนี้ แต่พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงเชื่อข่าวลือและมีพระราชโองการให้ลอร์ดแดนบีย์สืบสวน แม้ว่าลอร์ดแดนบีย์จะมีความสงสัยว่าจะเป็นเพียงข่าวลือแต่รัฐบาลคาวาเลียร์ถือว่าเป็นเรื่องจริงจัง[45] ข่าวลือทำให้ประชาชนตกอยู่ในความรู้สึกต่อต้านผู้นับถือโรมันคาทอลิกอย่างรุนแรง[46] และมีการจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการคบคิดกันกันทั่วประเทศ บ้างก็ถูกลงโทษบ้างก็ถูกประหารชีวิตโดยไม่มีความผิด[47]

ต่อมาในปี ค.ศ. 1678 ลอร์ดแดนบีย์ก็ถูกปลดจากตำแหน่งโดยสภาสามัญชนในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แม้ว่าทั้งประเทศจะต้องการทำสงครามกับฝรั่งเศสพระเจ้าชาลส์ทรงเจรจาต่อรองอย่างลับ ๆ กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อที่จะตกลงว่าอังกฤษจะทำตัวเป็นกลางเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินทดแทน ลอร์ดแดนบีย์ประกาศตัวว่าเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสแต่ในทางส่วนตัวก็ตกลงทำตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าชาลส์ แต่สภาสามัญชนไม่เชื่อว่าข่าวลือที่ว่าลอร์ดแดนบีย์มีส่วนร่วมโดยไม่เต็มใจและแต่เป็นผู้เขียนนโยบายด้วยตนเอง สมเด็จพระเจ้าชาลส์ทรงยุบสภาคาวาเลียร์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1679[48] เพื่อที่จะช่วยลอร์ดแดนบีย์

รัฐสภาใหม่เริ่มประชุมในเดือนมีนาคมปีเดียวกันเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นปรปักษ์ต่อสมเด็จพระเจ้าชาลส์ เมื่อไม่รับการสนับสนุนจากรัฐสภาลอร์ดแดนบีย์ก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้ากรมพระคลัง (Lord High Treasurer) แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระเจ้าชาลส์ แต่รัฐสภาไม่ยอมและประกาศว่าการยุบสภามิได้ระงับการไต่สวนของลอร์ดแดนบีย์ฉะนั้นการพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นโมฆะ เมื่อสภาขุนนางพยายามลงโทษลอร์ดแดนบีย์โดยการเนรเทศ—ซึ่งสภาสามัญชนถือว่าน้อยไป—การไต่สวนจึงหยุดชะงักลงเพราะสองสภาตกลงกันไม่ได้ ในที่สุดพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยอมฝ่ายตรงข้ามโดยทรงสั่งจำขังลอร์ดแดนบีย์ที่หอคอยแห่งลอนดอน ลอร์ดแดนบีจึงถูกจำขังอยู่ห้าปี[49]

บั้นปลาย

Thumb
เหรียญครึ่งคราวน์สมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 2, ค.ศ. 1683 มีคำจารึก “CAROLUS II DEI GRATIA” (พระเจ้าชาลส์ที่ 2 โดยพระคุณจากพระเจ้า)

ปัญหาใหญ่ทางการเมืองต่อมาของพระเจ้าชาลส์คือปัญหาเรื่องรัชทายาท แอนโทนี แอชลีย์ คูเปอร์ เอิร์ลแห่งชาฟส์บรีเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อการมีพระมหากษัตริย์เป็นโรมันคาทอลิก (ก่อนหน้านั้นบารอนแอชลีย์เป็นสมาชิกองคมนตรีคาบาล ที่สลายตัวลงในปี ค.ศ. 1673) อำนาจของบารอนแอชลีย์ก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้นเมื่อสภาสามัญชนของปี ค.ศ. 1679 เสนอร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่พยายามป้องกันไม่ให้เจมส์ ดยุกแห่งยอร์กขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษ บางกลุ่มถึงกับสนับสนุนเจมส์ สกอตต์ ดยุกที่ 1 แห่งมอนมัธ พระราชโอรสองค์โตนอกสมรสของพระเจ้าชาลส์ผู้เป็นโปรเตสแตนต์ กลุ่ม “Abhorrers”—ผู้ที่เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติละเว้นเป็นที่น่าเกลียด (abhorrent) —ถูกเรียกว่าทอรี (ตามคำที่ใช้เรียกโจรไอริชโรมันคาทอลิก) ขณะที่ “Petitioners”—ผู้ยื่นคำร้อง (Petitioning campaign) สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ—กลายมาเป็นวิก (ตามคำที่ใช้เรียกผู้ก่อความไม่สงบชาวสกอตแลนด์ที่เป็นเพรสไบทีเรียน)[50]

พระเจ้าชาลส์ทรงหวาดกลัวว่าร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์จะได้รับการอนุมัติและเมื่อทรงเห็นว่ามติมหาชนเริ่มเอนเอียงไปทางการต่อต้านโรมันคาทอลิกซึ่งเห็นได้จากการปล่อยตัวของผู้ที่กล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการคบคิดที่จะปลงพระชนม์พระองค์ พระเจ้าชาลส์จึงทรงตัดสินพระทัยยุบรัฐสภาเป็นครั้งที่สองในปีเดียวกันในฤดูร้อนของ ค.ศ. 1679 พระเจ้าชาลส์ทรงหวังว่าสภาใหม่จะไม่รุนแรงเหมือนสภาก่อนแต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ ภายในเวลาเพียงสองสามเดือนพระองค์ก็ทรงยุบรัฐสภาอีกครั้งหลังจากที่รัฐสภาพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัติละเว้นอีกครั้ง เมื่อรัฐสภาใหม่ประชุมกันที่อ็อกฟอร์ดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1681 พระเจ้าชาลส์ก็ทรงยุบอีกเป็นครั้งที่สี่หลังจากที่ประชุมกันได้เพียงไม่กี่วัน[51] ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1680 มติมหาชนในการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติก็ลดน้อยลงและพระเจ้าชาลส์ทรงมีความรู้สึกว่าประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์เพิ่มมากขึ้นเพราะมีความเห็นว่ารัฐสภามีความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เอิร์ลแห่งชาฟส์บรีถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏจนต้องหนีไปเนเธอร์แลนด์และไปเสียชีวิตที่นั่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระเจ้าชาลส์ก็ทรงปกครองอังกฤษโดยปราศจากรัฐสภา[52]

การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์ของพระเจ้าชาลส์สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายโปรเตสแตนต์บางส่วน ผู้ก่อการโปรเตสแตนต์วางแผน “การคบคิดรายเฮาส์” ซึ่งเป็นแผนการปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์และเจมส์ ดยุกแห่งยอร์ก ขณะที่เสด็จกลับลอนดอนจากการแข่งม้าที่นิวมาร์เกต แต่ทรงรอดพ้นจากการถูกปลงพระชนม์ เนื่องจากเพลิงไหม้ทำลายที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่นิวมาร์เค็ตทำให้ต้องเสด็จกลับลอนดอนก่อนกำหนด ข่าวแผนการปลงพระชนม์ที่ไม่สำเร็จจึงรั่วไหล[53] นักการเมืองโปรเตสแตนต์เช่น อาร์เธอร์ คาเพลล์ เอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ อาลเกอร์นอน ซิดนีย์, ลอร์ดวิลเลียม รัสเซลล์ และดยุกแห่งมอนมัธถูกจับในข้อหาว่ามีส่วนร่วมในการวางแผน เอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ฆ่าตัวตายขณะที่ถูกจำขังอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน ซิดนีย์และลอร์ดวิลเลียม รัสเซลล์ถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏต่อแผ่นดินโดยมีหลักฐานเพียงเล็กน้อย ส่วนดยุกแห่งมอนม็อธลี้ภัยไปยังราชสำนักของดยุกแห่งออเรนจ์ ลอร์ดแดนบีและขุนนางโรมันคาทอลิกที่ถูกจำขังอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอนถูกปล่อยและดยุกแห่งยอร์กก็มีอำนาจมากขึ้นในราชสำนัก[54] ไททัส โอตส์ถูกตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาและจำขังในข้อหาสร้างข่าวลือเท็จ[55]

พระเจ้าชาลส์ประชวรด้วยอาการชักเนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 และเสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 11:45 น. หลังจากนั้นที่ประชวรได้สี่วันที่พระราชวังไวต์ฮอลล์ เมื่อพระชนมายุได้ 54 พรรษา อาการประชวรคล้ายคลึงกับอาการของ ยูรีเมีย (uraemia) ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวกับไตทำงานอย่างไม่ปกติ[56] ขณะที่ประชวร พระเจ้าชาลส์ตรัสกับดยุกแห่งยอร์กว่า “จะต้องมิให้เนล เกล็นผู้น่าสงสารได้รับความลำบากเป็นอันขาด”[57] และกับข้าราชสำนักว่า “ข้าพเจ้าขออภัย ท่านสุภาพบุรุษ ที่เป็นผู้กำลังจะตายในเวลานี้”[58] ค่ำวันสุดท้ายก็ทรงได้รับเข้าสู่โรมันคาทอลิก แต่ก็ไม่ทราบว่ามีพระสติดีพอที่จะทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าวหรือทรงรับรู้เท่าใดหรือผู้ใดเป็นผู้จัดการการกระทำครั้งนี้[59] พระบรมศพถูกฝังไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ “โดยไม่มีพิธีรีตองอันหรูหรา”[58] เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์[60] ดยุกแห่งยอร์กพระอนุชาขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ และพระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์

พระราชโอรสธิดาและอนุสรณ์

Thumb
เจมส์ สกอตต์ ดยุกที่ 1 แห่งมอนมัธ
Thumb
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1692 พระรูปปั้นพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในเครื่องทรงโรมัน (สร้างโดย กรินลิง กิบบอนส์ (Grinling Gibbons) ในปี ค.ศ. 1676 ตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลเชลเซีย

พระเจ้าชาลส์ไม่มีพระราชโอรสธิดาในสมรส แต่มีพระราชโอรสธิดาสิบสองคนกับพระสนมเจ็ดคน[61]5 คนโดยบาร์บารา พาล์มเมอร์ ดัชเชสแห่งคลีฟแลนด์ที่ 1 (Barbara Palmer, 1st Duchess of Cleveland) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำแหน่งดยุกแห่งคลีฟแลนด์ พระสนมคนอื่น ๆ ก็ได้แก่ แคทเธอริน เพ็กก์ (Catherine Pegge), ลุย เดอ เคอรูเยลล์ ดัชเชสแห่งพอร์ธมัธ (Louise de Kérouaille, Duchess of Portsmouth), ลูซิ วอลเตอร์ (Lucy Walter), เอลิซาเบธ คิลลิกรูว์ (Elizabeth Killigrew) และ เนลล์ กวิน (Nell Gwyn) โอรสและธิดาหลายคนได้รับตำแหน่งดยุกหรือเอิร์ล; ตำแหน่งดยุกแห่งบุกลอยช์ (Duke of Buccleuch), ดยุกแห่งริชมอนด์ (Duke of Richmond), ดยุกแห่งกราฟตัน (Duke of Grafton) และ ดยุกแห่งเซนต์อัลบันส์ (Duke of St Albans) ในปัจจุบันต่างก็เป็นตำแหน่งที่สืบทอดมาจากพระเจ้าชาลส์โดยตรงทางพระโอรส[62] สาธารณชนไม่พึงพอใจในการที่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ทรงใช้เงินภาษีในการจ่ายเบี้ยเลี้ยงแก่บรรดาพระสนมและโอรสธิดาต่าง ๆ [63] จอห์น วิลม็อต เอิร์ลแห่งโรเชสเตอร์ (John Wilmot, Earl of Rochester) เขียนจดหมายถึงพระเจ้าชาลส์:

Restless he rolls from whore to whore
A merry monarch, scandalous and poor.[64]

ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์เองก็ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระโอรสนอกกฎหมายของพระเจ้าชาลส์สองพระองค์ เฮนรี ฟิทซ์รอย ดยุกที่ 1 แห่งกราฟตัน (Henry FitzRoy, 1st Duke of Grafton) และ ชาลส์ เล็นน็อกซ์ ดยุกแห่งริชมอนด์ที่ 1 (Charles Lennox, 1st Duke of Richmond) ผู้เป็นบรรพบุรุษของสมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร พระมเหสีองค์ที่สองของ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ฉะนั้นพระโอรสองค์โตของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ผู้ทรงอยู่ในอันดับที่ 1 ของลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ ถ้าได้เป็นกษัตริย์ก็จะเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าชาลส์ที่ 2

เจมส์ สกอตต์ ดยุกแห่งมอนม็อธที่ 1 พระโอรสองค์โตของพระเจ้าชาลส์เป็นผู้นำในการกบฏต่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แต่ไม่สำเร็จและพ่ายแพ้และถูกจับที่ยุทธการเซ็จมัวร์ (Battle of Sedgemoor) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1685 ในที่สุดก็ถูกประหารชีวิต แต่ต่อมาพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เองก็ทรงถูกโค่นราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1688 ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์โดยพระราชธิดาของพระองค์และพระสวามี สมเด็จพระเจ้าเจมส์ทรงเป็นกษัตริย์โรมันคาทอลิกองค์สุดท้ายของอังกฤษ

เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ พรรคทอรีมักจะเห็นว่าเป็นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณธรรมแต่พรรควิกเห็นว่าเป็นรัชสมัยของการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในทางที่ผิด ในปัจจุบันการเป็นการยากที่จะสรุปโดยไม่คำนึงถึงความไม่เป็นกลางของพระองค์ และมักเห็นกันว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ชอบความสุขสำราญ เช่นที่บรรยายโดยจอห์น เอเวลิน (John Evelyn) ว่า: “a prince of many virtues and many great imperfections, debonair, easy of access, not bloody or cruel”[65]—และทรงเป็นผู้ที่ศิลปินนิยมนำไปเป็นตัวละครในงานเขียนและภาพยนตร์ทรงมีวรรณกรรม

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะและวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นผู้ช่วนในการก่อตั้งราชสมาคม (Royal Society) ซึ่งเป็นสมาคมของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีสมาชิกที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่นโรเบิร์ต ฮุค, โรเบิร์ต บอยล์ และ ไอแซ็ค นิวตัน และทรงก่อตั้ง Royal Observatory ที่กรีนิช พระเจ้าชาลส์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์คริสโตเฟอร์ เร็น สถาปนิกผู้ช่วยสร้างลอนดอนหลังจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1666 เร็นสร้างโรงพยาบาลเชลเซียซึ่งสมเด็จพระเจ้าชาลส์ทรงก่อสร้างเพื่อให้เป็นบ้านพักทหารที่ปลดเกษียณในปี ค.ศ. 1682 นอกจากนั้นก็ทรงเป็นคนแรกที่อนุญาตให้สตรีแสดงละครบนเวทีได้แทนที่จะไห้เด็กผู้ชายเล่นเป็นผู้หญิงอย่างที่เคยทำกันมา[66]

วันที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเป็นครบรอบวัน “ฟื้นฟูกษัตริย์” ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันประสูติก็เป็นวันที่ฉลองกันมาจนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในชื่อวัน “Oak Apple Day” ตามตำนานต้นไม้ที่พระองค์ทรงใช้ซ่อนตัวขณะที่หลบหนีจากกองทหารของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่ในปัจจุบันเลิกฉลองกันไปแล้ว[67]

โซโฮแควร์ในลอนดอนที่สร้างในปลายคริสต์ทศวรรษ 1670 เดิมเรียกว่า “คิงสแควร์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์และอนุสาวรีย์ของพระองค์ที่สร้างในปี ค.ศ. 1681 ก็ยังตั้งอยู่ตรงกลางจัตุรัส[68]

หมายเหตุ

  1. วันเริ่มสมัยฟื้นฟูราชวงศ์ซึ่งเป็นวันเริ่มรัฐสภาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรกตั้งแต่การยุบระบบราชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1649 รัฐสภาอังกฤษยอมรับพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 ถึงแม้ว่าฝ่ายนิยมกษัตริย์ยอมรับพระองค์มาตั้งแต่เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 สวรรคตเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เอกสารทางกฎหมายทั้งหมดลงวันที่ราวกับว่ารัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เริ่มตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดาในปี ค.ศ. 1649
  2. ตั้งแต่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 พระราชบิดาทรงถูกประหารชีวิตถึงเวลาที่ทรงพ่ายแพ้ในยุทธการวูสเตอร์

อ้างอิง

บรรณานุกรม

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

ดูเพิ่ม

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.