Loading AI tools
หัวหน้ารัฐบาลของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นายกรัฐมนตรีไทย เป็นประธานคณะรัฐมนตรี และทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาล[3] โดยมีจุดกำเนิดมาจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนปัจจุบันคือ แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ได้รับการลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567
นายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรไทย | |
---|---|
ตราประจำตำแหน่ง | |
ธงประจำตำแหน่ง | |
รัฐบาลไทย สำนักนายกรัฐมนตรี | |
การเรียกขาน | ท่านนายกรัฐมนตรี (ไม่เป็นทางการ) ฯพณฯ (ทางการ) ท่านผู้นำ (การทูตระหว่างประเทศ) |
สมาชิกของ | คณะรัฐมนตรีไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร |
จวน | บ้านพิษณุโลก |
ที่ว่าการ | ทำเนียบรัฐบาล |
ผู้เสนอชื่อ | สภาผู้แทนราษฎร |
ผู้แต่งตั้ง | พระมหากษัตริย์ไทย |
วาระ | 4 ปี (รวมกันไม่เกิน 8 ปี) |
ตราสารจัดตั้ง | พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 |
ตำแหน่งก่อนหน้า | ประธานคณะกรรมการราษฎร |
ผู้ประเดิมตำแหน่ง | พระยามโนปกรณ์นิติธาดา |
สถาปนา | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 |
รอง | รองนายกรัฐมนตรีไทย |
เงินตอบแทน | 125,590 บาท[1][2] |
เว็บไซต์ | thaigov.go.th |
โดยปกติแล้วนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยจะมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยหลักแล้วถือว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการแต่งตั้งทางอ้อมโดยประชาชน แต่บทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2567
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีขึ้นภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เรียกว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475[4] อย่างไรก็ตาม มีการวิจารณ์อย่างหนักว่าชื่อตำแหน่งดังกล่าวเหมือนกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการราษฎรแห่งสหภาพโซเวียต[5] ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ก็เปลี่ยนมาเรียกว่า "นายกรัฐมนตรี" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 [6] โดยมีตราประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตราราชสีห์คชสีห์รักษารัฐธรรมนูญ และเป็นตราประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติที่มาของนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร และมีบทเฉพาะกาลให้วุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (วาระปี 2562–67) มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดวาระของนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"[7]
นายกรัฐมนตรีอาจพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดมีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตตินี้ต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไว้ด้วย เมื่อเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีหลีกหนีการอภิปราย เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้เสียงครบ หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และมีผลให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทั้งคณะด้วย
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 กำหนดให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการ ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน[8] และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 168 ได้กำหนดเพิ่มเติมว่า หากคณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือลาออกทั้งคณะ ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการและให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่ ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา
สำหรับบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย คือ บ้านพิษณุโลก ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ออกแบบและสร้างโดย มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกประจำราชสำนักสยามชาวอิตาลี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน
รองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการกำกับการบริหารราชการของกระทรวง หรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รวมทั้งเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (เรียงตามลำดับรองนายกรัฐมนตรีดังนี้)
ปัจจุบันมีอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสิ้น 12 คน มีรายชื่อดังต่อไปนี้
ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.