Loading AI tools
สงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ (ค.ศ. 1939 - ค.ศ. 1945) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามโลกครั้งที่สอง (อังกฤษ: World War II หรือ Second World War[a]) เป็นสงครามทั่วโลกที่กินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ถึง 1945 ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด แบ่งเป็นพันธมิตรทางทหารคู่สงครามสองฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ เป็นสงครามที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ มีทหารกว่า 100 ล้านนายจากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมโดยตรง สงครามนี้มีลักษณะเป็น "สงครามเบ็ดเสร็จ" คือ ประเทศผู้ร่วมสงครามหลักทุ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเพื่อความพยายามของสงคราม โดยลบเส้นแบ่งระหว่างทรัพยากรของพลเรือนและทหาร ประเมินกันว่าสงครามมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[3] ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึง 85 ล้านคน ด้วยประการทั้งปวง สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด[4] และมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ[5]
สงครามโลกครั้งที่สอง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ฝ่ายสัมพันธมิตร | ฝ่ายอักษะ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
|
|
จักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งมีเป้าหมายครอบงำทวีปเอเชียและแปซิฟิกและทำสงครามกับจีนมาตั้งแต่ปี 1937 แล้ว แต่โดยทั่วไปถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มตั้งแต่การบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนีในวันที่ 1 กันยายน 1939 นำไปสู่การประกาศสงครามต่อเยอรมนีของประเทศฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปลายปี 1939 ถึงต้นปี 1941 ในการทัพและสนธิสัญญาต่าง ๆ ประเทศเยอรมนีพิชิตหรือควบคุมยุโรปภาคพื้นทวีปได้ส่วนใหญ่ และตั้งพันธมิตรอักษะกับอิตาลีและญี่ปุ่น ภายใต้สนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพเมื่อเดือนสิงหาคม 1939 เยอรมนีและสหภาพโซเวียตแบ่งแลผนวกดินแดนประเทศเพื่อนบ้านยุโรปของตน ได้แก่ โปแลนด์ ฟินแลนด์ โรมาเนียและรัฐบอลติก สงครามดำเนินต่อส่วนใหญ่ระหว่างชาติฝ่ายอักษะยุโรปและแนวร่วมสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพบริติช โดยมีการทัพอย่างการทัพแอฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันออก ยุทธการที่บริเตนซึ่งเป็นการสู้รบทางอากาศ การทัพทิ้งระเบิดเดอะบลิตซ์ การทัพบอลข่าน ตลอดจนยุทธการที่แอตแลนติกที่ยืดเยื้อ ในเดือนมิถุนายน 1941 ชาติอักษะยุโรปบุกครองสหภาพโซเวียต เปิดฉากเขตสงครามภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้กำลังทหารสำคัญของฝ่ายอักษะตกอยู่ในสงครามบั่นทอนกำลัง ในเดือนธันวาคม 1941 ญี่ปุ่นโจมตีสหรัฐและอาณานิคมยุโรปในมหาสมุทรแปซิฟิก และพิชิตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกส่วนมากได้อย่างรวดเร็ว
การรุกของฝ่ายอักษะยุติลงในปี 1942 หลังญี่ปุ่นปราชัยในยุทธนาวีที่มิดเวย์ใกล้กับฮาวายที่สำคัญ และเยอรมนีปราชัยในแอฟริกาเหนือและจากนั้นที่สตาลินกราดในสหภาพโซเวียต ในปี 1943 จากความปราชัยของเยอรมนีติด ๆ กันที่เคิสก์ในยุโรปตะวันออก การบุกครองอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำให้อิตาลียอมจำนน จนถึงชัยของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิก ฝ่ายอักษะเสียการริเริ่มและต้องล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในทุกแนวรบ ในปี 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกครองฝรั่งเศสในการยึดครองของเยอรมนี ขณะเดียวกันกับที่สหภาพโซเวียตยึดดินแดนที่เสียไปทั้งหมดคืนและบุกครองเยอรมนีและพันธมิตร ระหว่างปี 1944 และ 1945 ญี่ปุ่นปราชัยสำคัญในทวีปเอเชียในภาคกลางและภาคใต้ของจีนและพม่า ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรก่อความเสียหายต่อกองทัพเรือญี่ปุ่นและยึดหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกที่สำคัญ
สงครามในยุโรปยุติลงหลังกองทัพแดงยึดกรุงเบอร์ลินได้ และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 แม้จะถูกโดดเดี่ยวและตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังปฏิเสธที่จะยอมจำนน กระทั่งมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มญี่ปุ่น และการบุกครองแมนจูเรีย จึงได้นำไปสู่การยอมจำนนอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945
สงครามยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ผลของสงครามได้เปลี่ยนแปลงการวางแนวทางการเมืองและโครงสร้างสังคมของโลก สหประชาชาติถูกสถาปนาขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตก้าวเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอันเป็นคู่ปรปักษ์กัน นำไปสู่ความขัดแย้งบนเวทีแห่งสงครามเย็น ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีก 46 ปีหลังสงคราม ขณะเดียวกัน การยอมรับหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง เร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา พร้อม ๆ กับที่หลายประเทศได้มุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายระหว่างสงคราม และบูรณาการทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วโลกในความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์หลังสงคราม
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงดินแดนอย่างใหญ่หลวงในยุโรป ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง รวมทั้งการล่มสลายของรัฐจักรวรรดิที่สำคัญ ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน ตลอดจนจักรวรรดิรัสเซีย ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี เซอร์เบียและโรมาเนีย รวมไปถึงการก่อตั้งรัฐใหม่หลังจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมันล่มสลาย หลังสงคราม ชาตินิยมอุดมการณ์เรียกร้องดินแดน (irredentism) และลัทธิแก้แค้น (revanchism) กลายมามีความสำคัญในหลายประเทศยุโรป อุดมการณ์เรียกร้องดินแดนและลัทธิแก้แค้นแรงกล้ามากในเยอรมนี เพราะเยอรมนีบังคับตามสนธิสัญญาแวร์ซาย[6] เป็นผลให้เยอรมนีเสียดินแดนของประเทศไปร้อยละ 13 รวมทั้งอาณานิคมโพ้นทะเลทั้งหมด การรวมเยอรมนีเข้ากับประเทศอื่นถูกห้าม ซ้ำต้องแบกภาระชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล และถูกจำกัดขนาดและขีดความสามารถของกองทัพอย่างมาก[7] ขณะเดียวกัน สงครามกลางเมืองรัสเซียได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต นำโดยพรรคบอลเชวิค ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์[8]
จักรวรรดิเยอรมันสิ้นสภาพไปจากการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1918-1919 และรัฐบาลประชาธิปไตยถูกตั้งขึ้น ซึ่งภายหลังรู้จักกันว่า สาธารณรัฐไวมาร์ ในเยอรมนีระหว่างสงครามโลกได้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นระหว่างผู้สนับสนุนสาธารณรัฐใหม่และผู้คัดค้านที่ยึดมั่นทางฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย พรรคนาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เจริญรอยตามการจัดตั้งรัฐบาลฟาสซิสต์ตามอย่างอิตาลีในเยอรมนี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้การสนับสนุนพรรคนาซีภายในประเทศเพิ่มขึ้น และใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค ฮิตเลอร์สถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จพรรคการเมืองเดียวนำโดยพรรคนาซี[9]
สถานการณ์คล้ายกันนี้ยังได้เกิดขึ้นในอิตาลี แม้ว่าอิตาลีจะเป็นพันธมิตรฝ่ายไตรภาคีและได้รับดินแดนอยู่บ้าง แต่พวกชาตินิยมอิตาลีรู้สึกโกรธแค้นที่คำมั่นสัญญาของอังกฤษและฝรั่งเศสให้ไว้เพื่อให้อิตาลีเข้าสู่สงครามในสนธิสัญญาลอนดอน ไม่เป็นไปตามการตกลงสันติภาพ นับจาก ค.ศ. 1922 ถึง 1925 ขบวนการฟาสซิสต์ นำโดยเบนิโต มุสโสลินี ยึดอำนาจในอิตาลีด้วยวาระชาตินิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จและความร่วมมือระหว่างชนชั้น ซึ่งยกเลิกระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน สังคมนิยมใช้อำนาจบังคับ กำลังฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม และดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบก้าวร้าวโดยมีเป้าหมายเพื่อสถาปนาอิตาลีเป็นมหาอำนาจของโลกโดยใช้กำลัง คือ "จักรวรรดิโรมันใหม่"[10]
ส่วนทางด้านประเทศจีน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มการทัพรวมชาติขึ้นต่อต้านเหล่าขุนศึกอิสระ จนนำไปสู่การรวมชาติในนามราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนกลับต้องเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองกับพันธมิตรเก่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน[11] ใน ค.ศ. 1931 จักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการจะมีอิทธิพลเหนือประเทศจีนมาเป็นเวลานานแล้ว[12] กำลังเพิ่มกำลังทหารในจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นแผนการขั้นแรกในการเข้าปกครองทั้งทวีปเอเชีย โดยใช้กรณีมุกเดนเป็นข้ออ้างในการบุกครองแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐหุ่นเชิด แมนจูกัว[13] จีนได้ขอความช่วยเหลือจากสันนิบาตชาติ ญี่ปุ่นจึงลาออกจากองค์การหลังมีการประณามการบุกครองดังกล่าว หลังจากนั้น ทั้งสองชาติได้เกิดการปะทะกันประปรายขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การพักรบตางกู ในปี ค.ศ. 1933 แต่ถึงกระนั้น กองกำลังอาสาจีนก็ยังคงต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นต่อไปในอีกหลายพื้นที่ ทั้งในแมนจูเรียและมองโกเลียใน[14]
ต่อมา ฮิตเลอร์สนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่โดยอาศัยปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ และเริ่มเสริมสร้างกำลังทหารครั้งใหญ่[15] เพื่อรักษาพันธมิตรของตน ฝรั่งเศสจึงยินยอมให้อิตาลียึดครองเอธิโอเปีย ซึ่งอิตาลีต้องการยึดเป็นอาณานิคมอยู่แล้ว เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อถึงช่วงต้น ค.ศ. 1935 ซาร์ลันท์ได้รวมเข้ากับเยอรมนีตามกฎหมาย และฮิตเลอร์ได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย พร้อมกับเร่งการฟื้นฟูกองทัพและเริ่มให้มีการเกณฑ์ทหารอย่างรวดเร็ว[16]
ในความพยายามที่จะจำกัดวงเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลีจึงก่อตั้งแนวสเตรซาขึ้น ด้านสหภาพโซเวียตเองก็กังวลต่อเป้าหมายยึดครองดินแดนยุโรปตะวันออกอันกว้างใหญ่ของเยอรมนีเช่นกัน จึงได้ทำสนธิสัญญาช่วยเหลือทวิภาคีกับฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญาฝรั่งเศส-โซเวียตต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนของสันนิบาตชาติเสียก่อน ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีผลเลย[17][18] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 สหราชอาณาจักรได้ทำสนธิสัญญาการเดินเรือแยกต่างหากกับเยอรมนี โดยผ่อนปรนต่อข้อบังคับต่าง ๆ ที่เคยกำหนดมาก่อนหน้านี้ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กังวลต่อสถานการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย จึงได้ผ่านรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางในเดือนสิงหาคม[19] ในเดือนตุลาคม อิตาลีบุกครองเอธิโอเปีย โดยมีเพียงเยอรมนีเป็นมหาอำนาจชาติเดียวในยุโรปที่สนับสนุนการบุกครองดังกล่าว อิตาลีจึงยกเลิกข้อคัดค้านต่อเป้าหมายการผนวกออสเตรียของเยอรมนี[20]
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ส่งทหารกลับเข้าคืนสู่ไรน์ลันท์ อันเป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาโลคาร์โน แต่ก็ได้รับการตอบสนองน้อยมากจากชาติยุโรปอื่น ๆ[21] ครั้นเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีได้ให้ความสนับสนุนแก่จอมทัพฟาสซิสต์ ฟรันซิสโก ฟรังโก และฝ่ายชาตินิยมสเปน เพื่อต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนที่สอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สงครามครั้งนี้เป็นสนามทดสอบอาวุธและยุทธวิธีในการทำสงครามที่คิดค้นขึ้นใหม่ด้วย[22] จนกระทั่งฝ่ายชาตินิยมสเปนได้รับชัยชนะเมื่อต้น ค.ศ. 1939 จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ได้นำไปสู่ความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งหรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศขึ้น เยอรมนีได้ร่วมมือกับอิตาลีก่อตั้งแกนโรม-เบอร์ลินขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 และทำกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับญี่ปุ่นในเดือนถัดมา ซึ่งอิตาลีก็ได้เข้าร่วมด้วยใน ค.ศ. 1937[23] ส่วนในประเทศจีน หลังจากกรณีซีอาน กองทัพพรรคก๊กมินตั๋งและกองทัพคอมมิวนิสต์ได้ตกลงหยุดยิงเพื่อร่วมกันสร้างแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น[24]
กลาง ค.ศ. 1937 หลังเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล ญี่ปุ่นเริ่มการบุกครองจีนอย่างเต็มตัว ซึ่งลงเอยด้วยการทัพที่มีเป้าหมายจะบุกครองจีนทั้งหมด[25] สหภาพโซเวียตเร่งลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับจีนและให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุดิบแก่จีน เป็นการยุติความร่วมมือกับเยอรมนีของจีนที่มีอยู่ก่อนหน้า จอมทัพเจียง ไคเช็คได้วางกำลังพลที่ดีที่สุดของเขาเพื่อป้องกันเซี่ยงไฮ้ แต่ก็เสียเมืองไปหลังการสู้รบนานสามเดือน กองทัพญี่ปุ่นยังผลักดันกองทัพจีนให้ล่าถอยต่อไป และสามารถยึดนานกิงได้ในเดือนธันวาคม และกระทำการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938 กองทัพจีนสามารถหยุดการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นได้โดยเหตุอุทกภัยแม่น้ำหวง ในช่วงนี้ จีนได้เตรียมการป้องกันที่เมืองอู่ฮั่น แต่ก็ยังถูกตีแตกในเดือนตุลาคม[26] แม้ว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะได้รับชัยชนะทางทหาร แต่กลับไม่สามารถทำลายการต้านทานของจีนลงได้อย่างที่หวัง โดยรัฐบาลจีนย้ายลึกเข้าไปในแผ่นดินถึงฉงชิ่งแล้วทำสงครามต่อ[27]
29 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 กองทัพญี่ปุ่นและกองทัพโซเวียตปะทะกันอย่างประปรายที่ทะเลสาบคาซัน แม้ว่าโซเวียตจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ญี่ปุ่นกลับมองว่าเป็นการเสมอที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ญี่ปุ่นตัดสินใจขยายพรมแดนญี่ปุ่น-มองโกเลียขึ้นไปถึงแม่น้ำคัลคินกอลด้วยกำลัง[28] แม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในระยะแรก แต่กองทัพคันโตในมองโกเลียได้ถูกขัดขวางอีกครั้ง และสงครามยุติลงด้วยสัญญาหยุดยิงเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนใด ๆ นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญครั้งแรกกองทัพคันโต[29][30] ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นควรมุ่งปรองดองกับรัฐบาลโซเวียตเพื่อมิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามในจีน และหันเหความสนใจทางทหารไปทางใต้ ไปยังดินแดนในครอบครองของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในแปซิฟิกแทน
ด้านทวีปยุโรป บทบาทของเยอรมนีและอิตาลีเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 เยอรมนีผนวกออสเตรีย โดยมีปฏิกิริยาจากชาติตะวันตกอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเช่นเดิม[31] ด้วยความฮึกเหิม ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิครอบครองซูเดเทินลันด์ ดินแดนของเชโกสโลวาเกียซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน โดยขัดต่อความต้องการของรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนียึดครองซูเดนเตแลนด์ เพื่อแลกกับการหยุดแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม[32] ทว่าหลังจากนั้น เยอรมนีและอิตาลีได้บังคับให้เชโกสโลวาเกียยกดินแดนให้กับฮังการีและโปแลนด์อีก[33] และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีบุกครองเชโกสโลวาเกียส่วนที่เหลือ และแบ่งประเทศออกเป็นรัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวียของเยอรมนี และรัฐหุ่นเชิดอิสระนิยมเยอรมนี สาธารณรัฐสโลวัก[34]
ด้วยความตื่นตัวจากเหตุที่ฮิตเลอร์ต้องการนครเสรีดานซิกเพิ่มเติม ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงรับประกันว่าจะให้การสนับสนุนเอกราชของโปแลนด์ และเมื่ออิตาลียึดครองแอลเบเนียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1939 ฝรั่งเศสและอังกฤษก็ให้คำมั่นเช่นเดียวกันนี้แก่โรมาเนียและกรีซ[35] ไม่นานหลังจากการให้คำมั่นดังนี้ ทางด้านเยอรมนีและอิตาลีก็ร่วมมือกันและลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาเหล็ก[36]
เดิมสหภาพโซเวียตพยายามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อพยายามจำกัดวงเยอรมนี[37] แต่ทั้งสองชาติปฏิเสธ ด้วยแคลงใจในเจตนาและความสามารถของสหภาพโซเวียต[38] สหภาพโซเวียตเกรงว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ปรารถนาจะให้ความร่วมมือทางทหารแก่ตน[39] และวิตกว่าอาจเกิดสงครามระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต โดยฝ่ายสัมพันธมิตรอาจเอนเอียงเข้ากับฮิตเลอร์[40] ทำให้สหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต[41] ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงลับระหว่างทั้งสองที่จะแบ่งกันครอบครองยุโรปตะวันออก โดยยกโปแลนด์ตะวันตกและลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของเยอรมนี และยกโปแลนด์ตะวันออก ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย และแคว้นเบสซาราเบียของโรมาเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต[42] นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคำถามถึงการมีเอกราชของโปแลนด์ต่อไปด้วย[43]
สงครามโลกครั้งที่สองไม่สามารถกำหนดจุดเริ่มต้นอย่างชี้ชัดแน่นอนได้ เพราะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง นักประวัติศาสตร์จึงเลือกหลายช่วงเวลาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งนี้แตกต่างกันไปตามแนวคิดของตน ซึ่งได้แก่ เหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกครองแมนจูเรีย ในปี ค.ศ. 1931[44][45] อิตาลีบุกครองเอธิโอเปีย ในปี ค.ศ. 1935[46][47][48] ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสันนิบาติชาติ[49] สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1937[50][51] เยอรมนีบุกครองโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม[52][53][54] ญี่ปุ่นโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในปี ค.ศ. 1941 และเยอรมนีบุกครองสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1941[54] และยังมีนักเขียนบางคนให้ความเห็นว่า สงครามโลกครั้งที่สองเป็นสงครามครั้งเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยซ้ำไป[55] (ใช้คำว่า "สงครามกลางเมืองยุโรป" หรือ "สงครามสามสิบปีครั้งที่สอง"[56][57]) อย่างไรก็ตาม ในตำราส่วนใหญ่มักถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และยุติเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
นอกเหนือจากนั้น สงครามโลกครั้งที่สองยังมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแตกต่างกันเช่นกัน บ้างก็นับที่การประกาศสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 มากกว่าการยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมือ่วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945; บางประเทศในทวีปยุโรปยึดเอาวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป (8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945) เป็นสำคัญ แต่ว่า สนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้มีการลงนามจนกระทั่งปี ค.ศ. 1951[58] และสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศเยอรมนีมีการลงนามใน ค.ศ. 1990[59]
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีและรัฐบริวารสโลวาเกียบุกครองโปแลนด์ วันที่ 3 กันยายน ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี ตามมาด้วยบรรดาประเทศในเครือจักรภพแห่งชาติ แต่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่โปแลนด์เพียงเล็กน้อยเฉพาะการโจมตีขนาดเล็กของฝรั่งเศสเข้าไปในซาร์ลันท์เท่านั้น[60] แม้ว่าอีกทางหนึ่ง อังกฤษกับฝรั่งเศสจะเริ่มต้นการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กันยายน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำลายเศรษฐกิจและความพยายามสงครามของเยอรมนี[61][62] วันที่ 17 กันยายน หลังจากสงบศึกชั่วคราวกับญี่ปุ่นแล้ว สหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มการบุกครองโปแลนด์ของตน[63] ท้ายสุด โปแลนด์ได้ถูกแบ่งออกระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ส่วนลิทัวเนียกับสโลวาเกียได้รับส่วนแบ่งบ้าง[64] ชาวโปแลนด์มิได้ยอมจำนนและสถาปนารัฐใต้ดินโปแลนด์ กองทัพป้องกันประเทศ (Home Army) ใต้ดิน และยังสู้อิงฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกแนวรบนอกประเทศ[65] และในเวลาเดียวกับการรบในโปแลนด์ กองทัพญี่ปุ่นก็เปิดฉากโจมตีเมืองฉางซาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจีน แต่ก็ถูกขับไล่กลับมาเมื่อปลายเดือนกันยายน[66]
ภายหลังการบุกครองโปแลนด์และการลงนามในสนธิสัญญากำหนดสิทธิปกครองลิทัวเนีย สหภาพโซเวียตได้บีบบังคับรัฐบอลติกเพื่อยินยอมให้สหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้าไปประจำการภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างกัน[67][68][69] ฟินแลนด์ปฏิเสธการเรียกร้องดินแดนและถูกสหภาพโซเวียตบุกครอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939[70] และจบลงด้วยการยินยอมยกดินแดนบางส่วนให้กับสหภาพโซเวียต ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1940[71] ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรมองว่าสหภาพโซเวียตพยายามจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ข้างเยอรมนี และได้ตอบสนองต่อการบุกครองโดยการขับสหภาพโซเวียตออกจากสันนิบาตชาติ[72][69] และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตบุกครองและยึดครองรัฐบอลติก[68]
ในยุโรปตะวันตก อังกฤษได้วางกำลังบนยุโรปภาคพื้นทวีป แต่ในช่วงที่เรียกว่า สงครามลวง ไม่มีปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. 1940[73] ทางด้านสหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้บรรลุสนธิสัญญาการค้าระหว่างกัน ซึ่งสหภาพโซเวียตได้รับเครื่องประกอบทางทหารและทางอุตสาหกรรมของเยอรมนีโดยแลกกับการส่งวัตถุดิบให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากการถูกปิดล้อมเมืองท่าโดยราชนาวีสหราชอาณาจักร[74]
เดือนเมษายน ค.ศ. 1940 เยอรมนีบุกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ เพื่อควบคุมการขนส่งแร่เหล็กจากสวีเดน ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังจะขัดขวาง[75] เดนมาร์กได้ยอมจำนนอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่านอร์เวย์จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วก็ตาม แต่เยอรมนีก็ยังสามารถพิชิตนอร์เวย์ได้ในเวลาเพียงสองเดือน[76] ความไม่พอใจต่อผลของการทัพนอร์เวย์ของชาวอังกฤษได้นำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรจากเนวิล เชมเบอร์ลิน เป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940[77]
ในวันเดียวกัน เยอรมนีบุกครองฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก[78] เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมพ่ายแพ้จากผลของยุทธวิธีบลิทซครีกติดต่อกันในเวลาเพียงไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์ตามลำดับ[79] ฝ่ายเยอรมนีใช้อุบายการตีผ่านแนวเทือกเขาอาร์เดนเนส ซึ่งมีป่าปกคลุมหนาแน่น เพื่อโอบล้อมแนวป้องกันแมกิโนต์ของฝรั่งเศส[78] ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะนักวางแผนชาวฝรั่งเศสคาดการณ์ผิดว่าเทือกเขานี้เป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติที่เชื่อกันว่า ยานยนต์หุ้มเกราะไม่อาจโจมตีผ่านได้[80] เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม ทหารอังกฤษถูกบีบให้ล่าถอยจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปในยุทธการดันเคิร์ก และทิ้งยุทโธปกรณ์หนักไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน อิตาลีเริ่มการบุกครองฝรั่งเศส และประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส[81] สิบสองวันหลังจากนั้น ฝรั่งเศสยอมจำนน และถูกแบ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนีและอิตาลีในเวลาไม่นานนัก[82] และรัฐซึ่งไม่อยู่ภายใต้การยึดครองภายใต้ระบอบวีชี[83] เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม กองทัพเรืออังกฤษก็ทำลายกองทัพเรือฝรั่งเศสในแอลจีเรีย เพื่อป้องกันมิให้กองทัพเยอรมนีนำไปใช้ในกรณีที่เป็นไปได้[84]
ในเดือนมิถุนายน ช่วงปลายยุทธการฝรั่งเศส สหภาพโซเวียตเริ่มจัดการเลือกตั้งที่ถูกจัดฉากขึ้นในรัฐบอลติกและผนวกดินแดนเหล่านี้ด้วยกำลังอย่างผิดกฎหมาย[85] ตามด้วยการผนวกแคว้นเบสซาราเบียในโรมาเนีย แม้ว่าความร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนีจะมีเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งในด้านเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ด้านการทหารเล็กน้อย การแลกเปลี่ยนประชากรและความตกลงเกี่ยวกับชายแดน จนอาจกล่าวได้ว่าสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรโดยพฤตินัยของเยอรมนีแล้วก็ตาม[86][87] การยึดครองรัฐบอลติก เบสซาราเบียและนอร์ทบูโควิน่าได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่เยอรมนี[88][89] พฤติการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากความไม่สามารถบรรลุความความร่วมมือระหว่างนาซี-โซเวียตได้เพิ่มเติม ได้ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองเสื่อมทรามลง เหลือแต่รอเวลาทำสงคราม[90]
เมื่อฝรั่งเศสหลุดจากสงคราม ฝ่ายอักษะก็มีกำลังยิ่งขึ้น กองทัพอากาศเยอรมันเริ่มการรบในยุทธการบริเตน เพื่อครองแสงยานุภาพเหนือน่านฟ้าและเตรียมการรบภาคพื้นดินบนเกาะอังกฤษ[91] แต่การทัพดังกล่าวประสบความล้มเหลว และแผนการบุกครองภาคพื้นดินได้ถูกยกเลิกในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือเยอรมันประสบความสำเร็จในการจมเรือรบราชนาวีอังกฤษด้วยเรืออู ในมหาสมุทรแอตแลนติก[92] ฝ่ายอิตาลีก็เริ่มการปฏิบัติการทางทะเลของตนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยการปิดล้อมมอลตา ในเดือนมิถุนายน ครอบครองบริติชโซมาลิแลนด์ในเดือนสิงหาคม และเปิดส่งกองทัพเข้าสู่อียิปต์ของสหราชอาณาจักรในตอนต้นเดือนกันยายน ส่วนทางด้านญี่ปุ่นก็เพิ่มการปิดล้อมจีนด้วยการโจมตีฐานทัพหลายแห่ง ทางตอนเหนือของอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งถูกโดดเดี่ยว[93]
ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกลางได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือจีนและสัมพันธมิตรตะวันตก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939 รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางของสหรัฐอเมริกามีผลตามกฎหมาย การแปรบัญญัติดังกล่าวส่งผลเปิดโอกาสให้ฝ่ายสัมพันธมิตรซื้อสินค้าแบบ "จ่ายเป็นเงินสด" ได้[94] ระหว่างปี ค.ศ. 1940 ภายหลังจากที่เยอรมนียึดกรุงปารีส สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มเติมขนาดกองทัพเรือของตนขนานใหญ่ และหลังจากการรุกล้ำเข้าไปยังอินโดจีนฝรั่งเศสของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนการห้ามขนส่งเหล็ก เหล็กกล้า และชิ้นส่วนเครื่องจักรแก่ญี่ปุ่น[95] และในเดือนกันยายน สหรัฐอเมริกาก็ตกลงแลกเปลี่ยนเรือประจัญบานอเมริกันกับฐานทัพอังกฤษเพิ่มเติม[96] อย่างไรก็ตาม สาธารณชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังคงต่อต้านการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งทางทหารโดยตรง จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1941[97]
ปลายเดือนกันยายน กติกาสัญญาไตรภาคีระหว่างเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ได้เป็นรวมตัวกันก่อตั้งฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการ[98] สัญญาดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าทุกประเทศ ยกเว้นสหภาพโซเวียต ซึ่งยังไม่อยู่ในภาวะสงครามและโจมตีรัฐสมาชิกฝ่ายอักษะรัฐใดรัฐหนึ่งจะนำไปสู่สภาวะสงครามกับรัฐสมาชิกทั้งหมด[99] ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนสหราชอาณาจักรและจีนโดยนโยบายให้ยืม-เช่าต่อไป ซึ่งรับหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากรสงครามและสิ่งอื่น ๆ[100] รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบหยาบ ๆ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะคอยคุ้มกันกองเรือสินค้าของอังกฤษ[101] ผลจากการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากันในการทำสงครามทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและตอนกลาง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังคงดำรงตนเป็นกลางอย่างเป็นทางการอยู่ก็ตาม[102]
ฝ่ายอักษะได้ขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940 เมื่อฮังการี สโลวาเกีย และโรมาเนียเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[103] ซึ่งในเวลาต่อมา ประเทศเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการรุกรานสหภาพโซเวียต แต่โรมาเนียถูกพิจารณาว่ามีบทบาทมากที่สุด เนื่องจากต้องการทวงดินแดนที่ถูกสหภาพโซเวียตยึดครองก่อนหน้า และยังเป็นความปรารถนาส่วนตัวของเอียน อันโตเนสคูที่ต้องการปราบปรามคอมมิวนิสต์[104]
ในเดือนตุลาคม อิตาลีบุกครองกรีซ แต่ภายในไม่กี่วันก็ถูกขับไล่และถูกตีจนต้องถอยร่นเข้าไปในอัลแบเนีย ซึ่งสถานการณ์การรบยังคงคุมเชิงกันอยู่[105] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1940 ในทวีปแอฟริกา กองทัพเครือจักรภพอังกฤษก็ได้ตีโต้ตอบกองทัพอิตาลีในอียิปต์และดินแดนแอฟริกาตะวันออกของอิตาลี[106] ในตอนต้นของปี ค.ศ. 1941 เมื่อกองทัพอิตาลีนั้นถูกผลักดันกลับไปยังลิเบียโดยกองทัพเครือจักรภพ เชอร์ชิลล์ก็ได้ออกคำสั่งให้ส่งกำลังจากแอฟริกาเข้าไปเสริมในกรีซ[107] ในขณะเดียวกัน กองทัพเรืออิตาลีก็ประสบกับความปราชัยครั้งสำคัญ เมื่อราชนาวีอังกฤษสามารถทำลายเรือประจัญบานปลดประจำการของอิตาลีไปได้ถึงสามลำในยุทธนาวีตารันโต และสร้างความเสียหายให้กับเรือรบอิตาลีอีกหลายลำในยุทธนาวีที่แหลมมาตาปัน[108]
ไม่นานนัก เยอรมนีก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออิตาลี ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทัพเยอรมันเข้าสู่ลิเบีย ในเดือนกุมภาพันธ์ และภายในปลายเดือนมีนาคม กองทัพฝ่ายอักษะก็ทำการรุกหนักกับกองทัพของกลุ่มเครือจักรภพที่ลดจำนวนลงไป[109] และภายในหนึ่งเดือน กองทัพเครือจักรภพก็ถูกตีถอยร่นกลับสู่อียิปต์ เว้นแต่เพียงเมืองท่าโทบรุคซึ่งถูกล้อมเอาไว้เท่านั้น[110] กองทัพเครือจักรภพพยายามจะขับไล่กองทัพอักษะออกไปในเดือนพฤษภาคม และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ก็ประสบความล้มเหลวทั้งสองครั้ง[111] ตอนต้นของเดือนเมษายน หลังจากบัลแกเรียเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ กองทัพเยอรมันก็เข้าแทรกแซงในคาบสมุทรบอลข่าน โดยโจมตีกรีซและยูโกสลาเวียภายหลังรัฐประหาร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนในท้ายที่สุด กองทัพสัมพันธมิตรก็ต้องถอนกำลังออกไปหลังจากที่เยอรมนีสามารถยึดเกาะครีตได้เมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม[112]
ฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน ในตะวันออกกลาง กองทัพเครือจักรภพก็ได้รับชัยชนะในการปราบปรามรัฐประหารในอิรัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพอากาศเยอรมันจากฐานทัพในซีเรียในอาณัติฝรั่งเศส[113] จากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศสเสรี ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในการทัพซีเรียและเลบานอน เพื่อจัดการกับทหารอักษะในพื้นที่[114] อีกทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก ประชาชนชาวอังกฤษมีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้นจากการจมจมเรือธง บิสมาร์ค ของเยอรมนี ลงสู่ก้นทะเลได้สำเร็จ[115] และที่อาจสำคัญสุด กองทัพอากาศอังกฤษสามารถต้านทานการโจมตีของลุควาฟเฟได้ในยุทธการแห่งบริเตน และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ต้องยกเลิกการทิ้งระเบิดเหนือเกาะอังกฤษไป[116]
ในทวีปเอเซีย หลังจากการรุกของทั้งสองฝ่าย สงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นยังคงคุมเชิงกันอยู่ในปี ค.ศ. 1940 ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อจีนโดยการกีดขวางเส้นทางเสบียง และเพิ่มเสริมสร้างฐานะที่เหนือกว่า กองกำลังญี่ปุ่นได้อาศัยจังหวะที่มหาอำนาจตะวันตกยังคงทำสงครามกันอยู่ ยึดครองอินโดจีนทางตอนใต้ด้วยกำลังทหาร และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน คอมมิวนิสต์จีนก็ได้โจมตีตอนกลางของจีน และเพื่อเป็นการแก้แค้น ญี่ปุ่นก็มีมาตรการรุนแรงออกมาเพื่อลดกำลังคนและปัจจัยการผลิตของกองกำลังคอมมิวนิสต์จีน[117] และความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพชาตินิยมจีน ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงในเดือนมกราคม ค.ศ. 1941 อันทำให้ปฏิบัติการทางทหารที่เคยกระทำร่วมกันก็ยุติลงตามไปด้วย[118] ขณะที่สถานการณ์ในยุโรปและเอเชียนั้นค่อนข้างมั่นคง เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียตก็ได้ตระเตรียมการตามนโยบายของตน ทางด้านสหภาพโซเวียตเผชิญกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากเยอรมนี ส่วนญี่ปุ่นนั้นพยายามที่ใช้ประโยชน์จากสงครามในทวีปยุโรป โดยการยึดเอาอาณานิคมอันอุดมสมบูรณ์ของยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตก็ได้ตกลงทำสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1941[119] ตรงกันข้ามกับเยอรมนีซึ่งตั้งใจอย่างไม่ลดละที่จะวางแผนทำสงครามในสหภาพโซเวียต ได้มีการระดมพลประชิดชายแดนสหภาพโซเวียตเพิ่มมากขึ้น[120]
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 เยอรมนีรวมถึงกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะในทวีปยุโรปและฟินแลนด์ ได้บุกครองสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา ซึ่งเป็นการโจมตีที่เหนือความคาดหมาย[121] โดยมีเป้าหมายคือการยึดครองรัฐบอลติก มอสโก และยูเครน และกำหนดเป้าหมายสูงสุดไว้ใกล้กับแนวเอ-เอ เมื่อปลายปี ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นแนวที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบแคสเปียนกับทะเลขาว ส่วนวัตถุประสงค์ของฮิตเลอร์ คือ การทำลายล้างแสนยานุภาพทางทหารของสหภาพโซเวียต กวาดล้างระบอบคอมมิวนิสต์ และสร้าง "พื้นที่อยู่อาศัย"[122] โดยการใช้กำลังแย่งชิงดินแดนมาจากชนพื้นเมืองเดิม[123] และเป็นการรับประกันการสร้างหนทางซึ่งนำไปสู่การยึดครองทรัพยากรที่จำเป็นต่อทำลายคู่แข่งของเยอรมนีที่ยังเหลืออยู่[124]
แม้ฝ่ายกองทัพแดงจะมีการเตรียมการตีโต้ตอบทางยุทธศาสตร์ไว้ก่อนสงครามก็ตาม[125] แต่ปฏิบัติการบาร์บารอสซาบีบให้กองบัญชาการทหารสูงสุดของโซเวียตปรับใช้แผนตั้งรับทางยุทธศาสตร์แทน ช่วงฤดูร้อน กองทัพฝ่ายอักษะได้รับชัยชนะมาตลอด สามารถยึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ และสร้างความเสียหายทั้งทางด้านทรัพยากรและกำลังพลให้แก่สหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก แต่ทว่าในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กองบัญชาการทหารสูงสุดเยอรมนีตัดสินใจที่จะพักการรบของหมู่กองทัพกลางเอาไว้ หลังจากที่กำลังพลมีจำนวนลดลง และแบ่งกลุ่มแพนเซอร์ที่สองไปสมทบกับกองทัพที่กำลังมุ่งหน้าไปยังตอนกลางของยูเครนและเลนินกราด[126] ยุทธการเคียฟประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ส่งผลทำให้กองทัพโซเวียตถูกทำลายไปถึงสี่กองทัพ และทำให้การมุ่งหน้าต่อไปยังคาบสมุทรไครเมียและเขตอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วในยูเครนตะวันออกเป็นไปได้[127]
ในช่วงปฏิบัติการบาร์บารอสซา กองทัพกว่าสามในสี่ของฝ่ายอักษะ และกองทัพอากาศส่วนใหญ่ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากฝรั่งเศสและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังแนวรบด้านตะวันออก[128][129] สหราชอาณาจักรได้รีบทำการพิจารณายุทธศาสตร์หลักใหม่ทันที[130] ในเดือนกรกฎาคม สหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียตก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งพันธมิตรทางทหารเพื่อต่อต้านเยอรมนี[131] ทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันบุกครองอิหร่านเพื่อรักษาฉนวนเปอร์เซียและแหล่งน้ำมันในอิหร่าน[132] ในเดือนสิงหาคม สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันตั้งกฎบัตรแอตแลนติก[127]
ต้นเดือนตุลาคม หลังจากที่กองทัพฝ่ายอักษะได้รับชัยชนะในยูเครนและแถบทะเลบอลติก โดยมีเพียงเลนินกราดและเซวัสโตปอลทื่ยังคงรบต้านทานอยู่เท่านั้น[133][134] ยุทธการมอสโกก็ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ หลังจากผ่านการรบอย่างหนักเป็นเวลาสองเดือน กองทัพฝ่ายอักษะเกือบจะถึงชานกรุงมอสโกแล้ว กองทัพของฝ่ายอักษะที่อ่อนเปลี้ย[note 1] ทำให้การบุกนั้นต้องหยุดชะงักไป[135] [136] และถึงแม้ว่าเยอรมนีจะได้ดินแดนมาจำนวนมหาศาล แต่ว่าประสบความล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ สองนครที่สำคัญของโซเวียตยังไม่แตก ขีดความสามารถของกองทัพแดงในการต้านทานการบุกของฝ่ายอักษะยังคงไม่ถูกทำลาย และศักยภาพทางทหารยังคงเหลืออยู่มาก หลังจากนี้ ระยะบลิทซครีกในทวีปยุโรปจึงได้ยุติลงอย่างสมบูรณ์[137]
เมื่อถึงต้นเดือนธันวาคม สหภาพโซเวียตได้รับกองหนุนที่ระดมมาจากพรมแดนด้านตะวันออกซึ่งติดกับเขตแมนจูกัวของญี่ปุ่น[138][139] ทำให้กองทัพโซเวียตมีปริมาณกำลังพลที่เทียบได้กับกองทัพฝ่ายอักษะ[140] ซึ่งเมื่อประกอบกับการยืนยันจากข้อมูลข่าวกรองแล้วว่า กองทัพโซเวียตในภาคพื้นตะวันออกไกลมีปริมาณเพียงพอที่จะสามารถต้านทานกองทัพคันโตของญี่ปุ่นได้[141] ในวันที่ 5 ธันวาคม กองทัพโซเวียตได้ตีโต้ตอบขนานใหญ่ตามแนวรบที่ยาวต่อเนื่องกันกว่า 1,000 กิโลเมตร และสามารถผลักดันกองทัพอักษะได้เป็นระยะทางถึง 100-250 กิโลเมตร[142]
ความสำเร็จของเยอรมนีในทวีปยุโรปได้กระตุ้นให้ญี่ปุ่นเพิ่มการกดดันต่อรัฐบาลยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลดัตช์ยินยอมที่จะส่งมอบทรัพยากรน้ำมันจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ แต่ปฏิเสธที่จะยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงทางการเมืองภายในอาณานิคม ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศสเขตวีชีซึ่งยินยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองอินโดจีนฝรั่งเศส[143] รัฐบาลสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและประเทศตะวันตกตอบโต้การยึดครองดังกล่าวด้วยการอายัดทรัพย์สินของญี่ปุ่น ในขณะที่สหรัฐอเมริกา (ซึ่งญี่ปุ่นอาศัยนำเข้าน้ำมันเป็นปริมาณกว่าร้อยละ 80[144]) ตอบสนองโดยการห้ามขนส่งน้ำมันไปยังญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์[145] ญี่ปุ่นถูกบีบให้เลือกว่าจะล้มเลิกความทะเยอทะยานในการยึดครองทวีปเอเชียและหันกลับไปดำเนินการรบในจีนต่อไป หรือเข้ายึดแหล่งทรัพยากรที่ต้องการด้วยกำลังทหาร กองทัพญี่ปุ่นไม่พิจารณาถึงทางเลือกแรก และนายทหารระดับสูงจำนวนมากพิจารณาว่าการห้ามขนส่งน้ำมันไปยังญี่ปุ่นเป็นการประกาศสงครามโดยนัย[146]
ญี่ปุ่นได้วางแผนในการยึดครองอาณานิคมของชาติยุโรปในทวีปเอเชียอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่ซึ่งลากยาวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสวงหาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอิสระขณะทำสงครามป้องกันตนเองจนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องสู้รบเป็นอาณาบริเวณกว้างเหนื่อยล้า[147] และเพื่อการป้องกันการเข้าแทรกแซงของภายนอก ญี่ปุ่นจึงพยายามวางแผนที่จะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับแรก[148] ในวันที่ 7 ธันวาคม ญี่ปุ่นได้โจมตีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล[149] และยกพลขึ้นบกในไทยและมาลายา[150]
จากการโจมตีครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน และฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ส่วนทางด้านเยอรมนี อิตาลี และกลุ่มประเทศตามสนธิสัญญาสามฝ่ายก็ได้ตอบสนองโดยการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต และจีน ร่วมด้วยยี่สิบสองรัฐบาลซึ่งเป็นประเทศเล็กหรือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ได้ร่วมกันออกปฏิญญาสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการรับรองกฎบัตรแอตแลนติก[151] แต่สหภาพโซเวียตมิได้ปฏิบัติตามแถลงการณ์ดังกล่าว และคงความตกลงเป็นกลางกับญี่ปุ่น[152][note 2] และดำเนินการตัดสินใจตามหลักการพิจารณาของตนเพียงฝ่ายเดียว[127] นับตั้งแต่ ค.ศ. 1941 สตาลินได้ร้องขอเชอร์ชิลล์และโรสเวลต์อย่างต่อเนื่องให้เปิด "แนวรบที่สอง" ขึ้นในฝรั่งเศส[153] แนวรบด้านตะวันออกจะกลายเป็นเขตสงครามหลักของสงครามในยุโรปและสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตของชาวโซเวียตหลายล้านคน ซึ่งทำให้การสูญเสียหลายแสนคนของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกเป็นเรื่องเล็กน้อย เชอร์ชิลล์และโรสเวลต์กล่าวว่าพวกเขาต้องการเวลาเตรียมการมากกว่านี้ จึงนำไปสู่การบอกเล่าที่ว่าพวกเขาชะลอเพื่อช่วยชีวิตชาวตะวันตกด้วยราคาของชีวิตชาวโซเวียต[154]
เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นเกือบจะสามารถครอบครองพม่า มาลายา หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ สิงคโปร์[155] และราบูล โดยสามารถสร้างความเสียหายกับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรและจับกุมเชลยศึกได้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะทำการรบต้านทานอย่างหนัก แต่ฟิลิปปินส์ก็ถูกยึดครองในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องพลัดถิ่น[156] กองทัพญี่ปุ่นยังได้รับชัยชนะในยุทธนาวีหลายครั้งในทะเลจีนใต้ ทะเลจาวาและมหาสมุทรอินเดีย[157] ต่อมา ได้เคลื่อนมาทิ้งระเบิดดาร์วิน และได้รับชัยชนะในการรบทางทะเลในทะเลจีนใต้ ทะเลชวาและมหาสมุทรอินเดีย[158] แต่ความสำเร็จที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรเกิดขึ้นในยุทธการชิงชาครั้งที่สองในตอนต้นของเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 เท่านั้น[159] การเอาชนะข้าศึกที่ไม่ทันตั้งตัวนี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป[160]
ทางด้านเยอรมนีก็สามารถทำการรุกต่อได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการบังคับบัญชากองทัพเรือที่ไม่แน่นอนของสหรัฐ กองทัพเรือเยอรมันสามารถทำลายทรัพยากรฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกาได้[161] ถึงแม้ว่าจะประสบความสูญเสียเป็นจำนวนมาก แต่กองทัพฝ่ายอักษะก็สามารถหยุดยั้งการรุกครั้งใหญ่ของโซเวียตได้ทางตอนกลางและตอนใต้ และยังคงถือครองดินแดนเพิ่มเติมที่ได้รับเข้ามาเมื่อปีที่แล้วอยู่เป็นจำนวนมาก[162] ส่วนในแอฟริกาเหนือ ฝ่ายอักษะได้ทำการบุกอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 เป็นการผลักดันให้กองทัพสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพกลับไปยังแนวกาซาลาในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์[163] ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก การตีโต้ตอบของกองทัพโซเวียตได้ยุติลงเมื่อเดือนมีนาคม[164] ตามด้วยการยุติการรบชั่วคราวของเยอรมนี ซึ่งใช้เวลาเพื่อวางแผนในการโจมตีในครั้งหน้าต่อไป[165][166]
ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นได้เริ่มวางแผนยึดพอร์ตมอร์สบีในปฏิบัติการโม โดยการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อเป็นการตัดเส้นทางเสบียงระหว่างสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้าขัดขวางและทำให้ทัพเรือญี่ปุ่นต้องล่าถอยไปได้ในยุทธนาวีทะเลคอรัล และสามารถขัดขวางการบุกครองปาปัวนิวกินีได้สำเร็จ[167] ส่วนแผนการขั้นต่อไปของญี่ปุ่น อันเกิดจากการกระตุ้นหลังกรุงโตเกียวถูกทิ้งระเบิด คือ การยึดครองหมู่เกาะมิดเวย์ รวมไปถึงการล่อเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกมาทำลายในการรบด้วยและในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้ส่งอีกกองทัพหนึ่งไปยึดหมู่เกาะอะลูเชียนในอะแลสกา[168] ในต้นเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นก็ได้งัดเอาแผนของตัวเองออกมาปฏิบัติ แต่ก็ถูกสกัดกั้น เนื่องจากกองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสลับกองทัพเรือญี่ปุ่นได้ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจึงได้เตรียมตัวรับมือกับการบุกของญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงใช้ข่าวกรองดังกล่าวกระทั่งได้รับชัยชนะเด็ดขาดในยุทธนาวีมิดเวย์เหนือกองทัพเรือญี่ปุ่น[169]
เนื่องจากญี่ปุ่นเสียทรัพยากรในการรุกรานไปมากที่มิดเวย์ ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปทำการรบที่การทัพโคโคดะบนดินแดนปาปัว ในความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการยึดพอร์ตมอร์สบี[170] สำหรับฝ่ายสหรัฐก็ได้วางแผนที่จะตีโต้ตอบครั้งต่อไปในหมู่เกาะโซโลมอน โดยเริ่มต้นจากเกาะกัวดัลคะแนล อันเป็นก้าวแรกของการเข้ายึดราบูล ซึ่งเป็นฐานทัพเรือหลักของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์[171]
แผนการทั้งสองเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน ญี่ปุ่นจำต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทัพกัวดัลคะแนลมากขึ้น และกองทัพญี่ปุ่นในเกาะนิวกินีนั้นได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่เขตพอร์ตมอร์สบีไปยังทางตอนเหนือของเกาะ ที่ซึ่งกองทัพนี้ต้องเผชิญกับกำลังผสมระหว่างสหรัฐกับออสเตรเลีย[172] กัวดัลคะแนลได้กลายเป็นจุดยุทธศาตร์สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดการทุ่มทรัพยากรคนและเรือรบมาเป็นจำนวนมากเพื่อทำการรบ จนกระทั่งในตอนต้นของปี ค.ศ. 1943 กองทัพญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้บนเกาะกัวดัลคะแนลและถอยทัพกลับ[173] ในประเทศพม่า กองทัพเครือจักรภพได้รบในสองปฏิบัติการ หนึ่งคือการรุกเข้าไปในแคว้นอาระกันระหว่างการทัพพม่า ในปลายปี ค.ศ. 1942 แต่ก็ประสบความหายนะอย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องถอยทัพกลับเข้าสู่อินเดีย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943[174] และปฏิบัติการที่สอง ก็คือ การส่งกองกำลังนอกแบบเข้าทางด้านหลังแนวรบของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน ก็ได้รับผลที่ไม่แน่นอนเท่าใดนัก[175]
ขณะที่เหตุการณ์ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพเยอรมันและพันธมิตรฝ่ายอักษะ ยังคงเอาชนะกองทัพโซเวียตที่ยุทธการที่คาบสมุทรเคียร์ชและยุทธการที่คาร์คอฟครั้งที่ 2[176] ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เปิดฉากรุกหนักในฤดูร้อนในกรณีสีน้ำเงินในแถบสหภาพโซเวียตตอนใต้ ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 เพื่อยึดครองแหล่งขุดเจาะน้ำมันทุกแห่งในแถบคอเคซัสและทุ่งหญ้าสเตปป์คูบานอันกว้างใหญ่ เยอรมนีแบ่งหมู่กองทัพใต้ออกเป็นสองส่วน หมู่กองทัพเอถูกส่งไปโจมตีแม่น้ำดอนตอนล่าง ขณะที่หมู่กองทัพบีถูกส่งไปโจมตีทางตะวันตกเฉียงใต้โดยมุ่งหน้าไปยังคอเคซัสและแม่น้ำวอลกา[177] กองทัพโซเวียตได้ตัดสินใจที่จะตั้งรับที่สตาลินกราด ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของฝ่ายอักษะ
ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน กองทัพอักษะเกือบจะพิชิตสตาลินกราดในการสงครามเมืองอันขมขื่นแล้ว แต่กองทัพโซเวียตก็ทำการตีโต้ตอบในฤดูหนาวเป็นครั้งที่สอง โดยเริ่มจากการโอบล้อมกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราด[178] ตามด้วยการโจมตีสันเขารเจฟ ใกล้กรุงมอสโก แม้ว่าจะปราชัยย่อยยับในภายหลังก็ตาม[179] ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันประสบกับความสูญเสียมหาศาล และกองทัพเยอรมันในสตาลินกราดถูกบีบบังคับให้ยอมจำนน[180] แนวรบด้านตะวันออกถูกผลักดันไปยังจุดก่อนการรุกในฤดูร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่การตีโต้ตอบของโซเวียตหยุดชะงัก กองทัพเยอรมันได้โจมตีฮาร์คอฟอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นแนวรบที่ยื่นเข้าไปในดินแดนของโซเวียตรอบเคิสก์[181]
ทางด้านตะวันตก ด้วยความวิตกกังวลว่าญี่ปุ่นอาจใช้เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นฐานทัพของฝรั่งเศสเขตวีชี กองทัพอังกฤษจึงสั่งดำเนินการโจมตีเกาะมาดากัสการ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942[182] และทางด้านการทัพแอฟริกาเหนือ การโจมตีครั้งล่าสุดของฝ่ายอักษะที่ยุทธการที่กาซาลา ได้ผลักดันให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับเข้าสู่อียิปต์ จนกระทั่งการบุกต้องหยุดชะงักที่เอล อาลาเมน[183] ระหว่างการรบในช่วงนี้ บนยุโรปภาคพื้นทวีป หน่วยคอมมานโดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตีโฉบฉวยเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ และจบลงด้วยการตีโฉบฉวยดีแยป ซึ่งผลเป็นความหายนะ[184] แสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถของฝ่ายพันธมิตรตะวันตกในการออกปฏิบัติการบุกครองยุโรปภาคพื้นทวีปโดยปราศจากการเตรียมการยุทโธปกรณ์และความมั่นคงทางปฏิบัติการมากกว่านี้[185]
ในเดือนสิงหาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถผลักดันแนวรบฝ่ายอักษะให้ถอยไปในยุทธการเอลแอละเมนครั้งที่สอง และด้วยการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างสูงลิบ ก็สามารถขนทรัพยากรที่ต้องการไปให้เมืองมอลต้าที่ถูกปิดล้อมเอาไว้ได้ในปฏิบัติการฐานเสาหิน[186] จากนั้น ไม่กี่เดือนหลังจากยุทธการเอลแอละเมนครั้งที่สองในอียิปต์ ทางด้านอังกฤษและประเทศเครือจักรภพก็เริ่มเคลื่อนทัพไปทางทิศตะวันตกสู่ประเทศลิเบีย[187] ไม่นานหลังจากที่การบุกครองแอฟริกาเหนือของฝรั่งเศสของสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร ซึ่งก็ได้ชัยชนะ และเป็นผลให้ดินแดนดังกล่าวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร[188] ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองต่อการเอาใจออกห่างของอาณานิคมฝรั่งเศสโดยการออกคำสั่งยึดครองฝรั่งเศสเขตวีชี[188] ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสเขตวีชีจะไม่ละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลงหยุดยิง แต่กระทรวงทหารเรือของฝรั่งเศสเขตวีชีได้จัดการจมกองทัพเรือของตนเพื่อมิให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายเยอรมนี[189] เมื่อถูกบีบจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้กองทัพฝ่ายอักษะต้องถอยร่นไปตั้งรับในตูนิเซีย ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943[190]
ภายหลังจากการทัพเกาะกัวดัลคะแนล ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มปฏิบัติการทางทหารมากมายต่อกองทัพญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 กองทัพอเมริกันถูกส่งออกไปโจมตีกองทัพญี่ปุ่นจากหมู่เกาะอะลูเชียน[191] และเริ่มต้นปฏิบัติการหลักในการโดดเดี่ยวเมืองราบูล โดยการยึดครองเกาะรอบ เพื่อตัดขาดกำลังสนับสนุน และการฝ่าช่องโหว่ในแนวป้องกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง[192] เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถประสบความสำเร็จทั้งในสองปฏิบัตการ และยังสามารถทำลายฐานทัพเรือหลักของกองทัพเรือญี่ปุ่นได้ในบริเวณหมู่เกาะแคโรไลน์ เมื่อถึงเดือนเมษายน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้เริ่มปฏิบัติการที่จะยึดครองเกาะนิวกินีตะวันตก[193]
ในสหภาพโซเวียต ทั้งเยอรมนีและโซเวียตต่างตระเตรียมแผนการสำหรับการรุกครั้งใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ค.ศ. 1943 แถบรัสเซียตอนกลาง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันเริ่มเข้าตีกำลังโซเวียตรอบแนวยื่นที่เคิสก์ แต่ฮิตเลอร์กลับต้องยกเลิกแผนการนี้แม้ว่าจะผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว เนื่องจากสูญเสียต่อการวางระบบป้องกันเป็นขั้น ๆ อย่างลึกและการป้องกันที่สร้างไว้อย่างดี[194][195][196] ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฮิตเลอร์มีพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะยังไม่บรรลุผลทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีเลยก็ตาม[197] การตัดสินใจดังกล่าวบางส่วนเป็นผลมาจากการบุกครองเกาะซิซิลีของสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ประกอบกับความล้มเหลวของอิตาลีที่ผ่านมา ส่งผลให้มุสโสลินีถูกขับออกจากตำแหน่งและถูกจับกุมหลังจากนั้น[198]
วันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 สหภาพโซเวียตได้ทำการตีโต้ตอบของตน และดับความหวังใด ๆ ของกองทัพเยอรมันที่จะชนะหรือกระทั่งรักษาสถานการณ์คุมเชิงไว้ได้อีกในทางตะวันออก[199] ชัยชนะที่เคิสก์ของโซเวียตนำพาให้ความเหนือกว่าของเยอรมนีเสื่อมลง และให้สหภาพโซเวียตกลับเป็นฝ่ายริเริ่มในแนวรบด้านตะวันออก[200][201] ทหารเยอรมันพยายามสร้างความมั่นคงแก่แนวรบด้านตะวันออกของตนตามแนวพันเทอร์-โวทันที่มีการเสริมอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดี ฝ่ายโซเวียตสามารถตีผ่านแนวดังกล่าวได้ที่สโมเลนสก์และโดยการรุกโลวเออร์นีเปอร์[202]
เดือนกันยายน ค.ศ. 1943 สัมพันธมิตรตะวันตกเริ่มการบุกครองแผ่นดินใหญ่อิตาลี ตามด้วยการสงบศึกกับสัมพันธมิตรของอิตาลี[203] เยอรมนีสนองโดยการปลดอาวุธกองทัพอิตาลี ยึดการควบคุมทางทหารในพื้นที่อิตาลีทั้งหมด[204] และสร้างแนวป้องกันขึ้นมาหลายชั้นด้วยกัน[205] เมื่อวันที่ 12 กันยายน กองกำลังพิเศษเยอรมันช่วยเหลือตัวมุสโสลินี และสถาปนารัฐบริวารในอิตาลีส่วนที่ถูกเยอรมนียึดครอง ชื่อว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี[206] ฝ่ายกองทัพสัมพันธมิตรทะลวงผ่านแนวป้องกันเยอรมันได้หลายแนว จนถึงแนวป้องกันหลักของเยอรมนีเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน[207]
ทางด้านการรบทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก กองทัพเรือเยอรมันประสบความสูญเสียอย่างหนักในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 จนถูกเรียกว่า "พฤษภาอนธการ" ความสูญเสียกองเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมนีเป็นจำนวนมาก ทำให้การดักทำลายกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหยุดชะงัก[208] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 แฟรงกลิน โรสเวลต์ และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้เดินทางไปพบกับเจียง ไคเช็ค ระหว่างการประชุมกรุงไคโร[209] และอีกครั้งกับโจเซฟ สตาลินระหว่างการประชุมเตหะราน[210] และผลจากการประชุมทั้งสองครั้งได้ข้อตกลงว่า สัมพันธมิตรตะวันตกจะบุกครองยุโรปภายในปี ค.ศ. 1944 และสหภาพโซเวียตจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นภายในสามเดือนหลังเยอรมนียอมแพ้[210]
เดือนมกราคม ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรได้เข้าตีหลายครั้งที่มอนเตกัสซีโน และพยายามตีโอบด้วยการยกพลขึ้นบกที่อันซิโอ[211] เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม กองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่กองทัพเยอรมันออกจากมณฑลเลนินกราด[212] ยุติการล้อมที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการรุกในเวลาต่อมาของโซเวียตถูกหยุดตรงพรมแดนเอสโตเนียก่อนสงคราม ซึ่งกองทัพกลุ่มเหนือของเยอรมนีได้รับความช่วยเหลือจากชาวเอสโตเนีย ด้วยหวังจะสถาปนาเอกราชของชาติใหม่[213][214] ความล่าช้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการในแถบทะเลบอลติก[215] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองทัพโซเวียตปลดปล่อยคาบสมุทรไครเมีย โดยสามารถขับไล่กองทัพอักษะออกจากยูเครนขนานใหญ่ และเริ่มทำการรุกเข้าไปยังโรมาเนีย ซึ่งถูกขับไล่โดยกองทัพอักษะ[216] พร้อมกับที่การรุกอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จ และบังคับให้กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยไป และในวันที่ 4 มิถุนายน โรมก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายสัมพันธมิตร[217]
เริ่มในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มการบุกครองหนึ่งในสองครั้ง คือ ปฏิบัติการต่อที่ตั้งของอังกฤษในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย[218] และสามารถล้อมที่ตั้งของเครือจักรภพได้ที่อิมผาลและโกหิมา[219] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กำลังอังกฤษรุกโต้ตอบกองทัพญี่ปุ่นกลับไปยังพม่า[219] และกองทัพจีนซึ่งบุกครองพม่าตอนเหนือเมื่อปลาย ค.ศ. 1943 ได้ล้อมกองทัพญี่ปุ่นไว้ที่มิตจีนา[220] การบุกครองครั้งที่สองของญี่ปุ่นเป็นความพยายามที่จะทำลายกำลังรบหลักของจีน สร้างความปลอดภัยแก่ทางรถไฟระหว่างดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดไว้และยึดสนามบินของสัมพันธมิตร[221] เมื่อถึงเดือนมิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นสามารถพิชิตมณฑลเหอหนานและเริ่มต้นการเข้าตีฉางชาใหม่ในมณฑลหูหนาน[222]
6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์ม็องดีในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด และหลังจากการมอบหมายหน้าที่ให้กับกองทัพสัมพันธมิตรหลายกองพลในอิตาลีแล้ว จึงเริ่มการรุกเข้าสู่ฝรั่งเศสตอนใต้ในเดือนสิงหาคม[223] จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสได้ในวันที่ 25 สิงหาคม [224] และในช่วงเวลาต่อมากระทั่งสิ้นปี กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ผลักดันกำลังเยอรมันในยุโรปตะวันตกกลับไปถึงแม่น้ำไรน์ แต่ความพยายามที่จะรุกเข้าสู่เยอรมนีตอนเหนือ ซึ่งนำโดยปฏิบัติการพลร่มครั้งใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ จบลงด้วยความล้มเหลว[225] จากนั้น สัมพันธมิตรตะวันตกผลักเข้าสู่เยอรมนีอย่างช้า ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการข้ามแม่น้ำรูร์อีกครั้งในการรุกครั้งใหญ่ ในอิตาลี การรุกของสัมพันธมิตรก็ช้าลงเช่นกัน เมื่อถึงแนวป้องกันหลักสุดท้ายของเยอรมนี
ส่วนทางด้านแนวรบด้านตะวันออก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน กองทัพโซเวียตได้กระหน่ำโจมตีเป็นชุดอย่างหนักต่อเยอรมนี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไล่ตั้งแต่ปฏิบัติการบากราติออนในเบลารุส ซึ่งสามารถทำลายกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนีลงเกือบทั้งหมด[note 3] ตามด้วยปฏิบัติการในการขับไล่ทหารเยอรมันออกจากยูเครนตะวันตกและโปแลนด์ตะวันออก ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ขบวนการกู้ชาติโปแลนด์ได้เริ่มต้นก่อการจลาจล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงวอร์ซอ และในสโลวาเกียทางตอนใต้ แต่จลาจลทั้งสองครั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากกำลังโซเวียตเลย และถูกกองทัพเยอรมันปราบปราม[226] ส่วนการโจมตีโรมาเนียได้ทำลายกองทัพเยอรมันไปเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดการรัฐประการในโรมาเนียและบัลแกเรีย ส่งผลให้ประเทศทั้งสองเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน[227]
ในเดือนกันยายน 1944 กองทัพแดงได้เคลื่อนทัพไปยังยูโกสลาเวีย ทำให้กองทัพกลุ่มอีและกองทัพกลุ่มเอฟในกรีซ แอลเบเนีย และยูโกสลาเวียต้องถอยร่นอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันมิให้ถูกตัดออกจากกำลังส่วนอื่น ๆ[228] เมื่อถึงจุดนี้ พลพรรคชาวยูโกสลาฟภายใต้การนำของจอมพล ยอซีป บรอซ ตีโต ซึ่งได้ครอบครองดินแดนจำนวนมากในยูโกสลาเวียและโจมตีกองทัพเยอรมันต่อไปทางทิศใต้ ในเซอร์เบีย กองทัพแดงได้มีส่วนช่วยเหลือพลพรรคในการปลดปล่อยกรุงเบลเกรด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไม่กี่วันหลังจากนั้น กองทัพแดงได้โจมตีฮังการีครั้งใหญ่ในการรุกบูดาเปสต์ ซึ่งกินเวลานานก่อนที่กรุงบูดาเปสต์จะแตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945[229] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะประสบความสำเร็จในคาบสมุทรบอลข่าน แต่การต่อต้านของฟินแลนด์ต่อปฏิบัติการของโซเวียตบนคอคอดแครีเลียน ได้ปฏิเสธการยึดครองของสหภาพโซเวียต ก่อนจะมีการนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกด้วยเงื่อนไขที่เสียเปรียบเพียงเล็กน้อย[230][231] และทำให้ฟินแลนด์เปลี่ยนมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน
ถึงต้นเดือนกรกฎาคม กองทัพเครือจักรภพ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคลายวงล้อมของกองทัพญี่ป่นที่รัฐอัสลัมลงได้ และสามารถผลักดันให้กองทัพญี่ปุ่นถอยไปได้จนถึงแม่น้ำชินด์วินด์[232] ขณะที่กองทัพจีนสามารถยึดเมืองมยิตคยินาในประเทศพม่าได้ ส่วนทางด้านประเทศจีน กองทัพญี่ปุ่นเริ่มได้รับชัยชนะอย่างมาก จากการยึดเมืองฉางชาไว้ได้ในที่สุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน และยึดเมืองเหิงหยางได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม[233] จากนั้นจึงได้เคลื่อนทัพต่อไปยังมณฑลกวางสี สามารถเอาชนะกองกำลังจีนได้ที่กุ้ยหลินและหลิวโจว เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน [234] และประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกองทัพญี่ปุ่นในจีนและในคาบสมุทรอินโดจีนในกลางเดือนธันวาคม[235]
ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพอเมริกันยังคงกดดันแนวป้องกันของญี่ปุ่นตามหมู่เกาะต่าง ๆ ต่อไป ราวกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพอเมริกันเริ่มการโจมตีหมู่เกาะมาเรียนาและปาเลา และได้รับชัยชนะเด็ดขาดต่อกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุทธนาวีที่ทะเลฟิลิปปินส์ภายในเวลาไม่กี่วัน ผลของความปราชัยนี้นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของพลเอกโตโจ และทำให้สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอากาศซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักเพื่อโจมตีแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่นได้ ปลายเดือนตุลาคม กองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกที่เกาะเลย์เต หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเรือของสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อกองทัพญี่ปุ่นอีกครั้งในยุทธนาวีอ่าวเลย์เต ซึ่งถือได้ว่ายุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[236]
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันได้พยายามอย่างเข้าตาจนเพื่อความสำเร็จโดยการเรียกระดมกองหนุนเยอรมัน และตีโต้ตอบครั้งใหญ่ที่ป่าอาร์เดินเนส เพื่อที่จะแบ่งแยกฝ่ายพันธมิตรตะวันตก โอบล้อมกองกำลังฝ่ายพันธมิตรตะวันตกขนาดใหญ่และยึดครองเมืองท่าเสบียงที่สำคัญที่อันท์เวิร์พ เพื่อที่จะรักษาความสงบทางการเมือง[237] ซึ่งกินเวลาจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 โดยไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใดเลย[237] ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพโซเวียตโจมตีถึงฮังการี และกองทัพเยอรมันจำเป็นต้องทิ้งกรีซและยูโกสลาเวีย[238] ขณะที่ในอิตาลี กองทัพสัมพันธมิตรยังคงไม่สามารถโจมตีผ่านแนวป้องกันของเยอรมันได้ และกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตโจมตีโปแลนด์ สามารถผลักดันกองทัพเยอรมันจากแม่น้ำวิสตูลาถึงแม่น้ำโอเดอร์ในเยอรมนี และยึดครองปรัสเซียตะวันออก [239] เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมการประชุมที่ยัลตา ซึ่งได้ข้อสรุปถึงการแบ่งปันดินแดนของเยอรมนีภายหลังสงคราม [240] และกำหนดเวลาที่สหภาพโซเวียตจะเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น[241]
ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกได้เข้าสู่แผ่นดินของเยอรมนีและเข้าประชิดแม่น้ำไรน์ ขณะที่กองทัพโซเวียตโจมตีพอเมอเรเนียตะวันออกและไซลีเชีย เมื่อถึงเดือนมีนาคม กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกได้ข้ามแม่น้ำไรน์ทั้งทางเหนือและทางใต้ของแคว้นไรน์-รูร์ และสามารถล้อมกองทัพเยอรมันขนาดใหญ่เอาไว้[242] ส่วนด้านกองทัพโซเวียตสามารถรุกเข้าถึงกรุงเวียนนา ในที่สุดกองทัพสัมพันธมิตรตะวันดกก็สามารถตีฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันได้ในอิตาลี และสามารถโจมตีได้ทางตะวันตกของเยอรมนี เมื่อต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ขณะที่ปลายเดือนเดียวกัน กองทัพโซเวียตเข้าถล่มกรุงเบอร์ลิน กองทัพฝ่ายพันธมิตรตะวันตกและกองทัพโซเวียตได้มาบรรจบกันที่แม่น้ำเอลเบอ เมื่อวันที่ 25 เมษายน เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 อาคารรัฐสภาไรชส์ทาคถูกยึดครอง แสดงถึงความพ่ายแพ้ทางการทหารของนาซีเยอรมนี[243]
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน ประธานาธิบดีสหรัฐ แฟรงกลิน โรสเวลต์ ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อคือรองประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ขณะที่เบนิโต มุสโสลินีถูกสังหารโดยขบวนการกู้ชาติอิตาลี เมื่อวันที่ 28 เมษายน[244] และอีกสองวันให้หลัง ฮิตเลอร์ทำพินัยกรรมมอบอำนาจให้กับจอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์ และยิงตัวตายในฟือเรอร์บุงเคอร์[245]
หลังจากนั้น กองทัพเยอรมันในอิตาลีได้ยอมแพ้ในวันที่ 29 เมษายน ส่วนเยอรมนีได้ยอมแพ้ในยุโรปตะวันตกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม[246] ทว่ากองทัพเยอรมันยังรบกับกองทัพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออกต่อไปถึงวันที่ 8-9 พฤษภาคม ส่วนกองทัพเยอรมันที่เหลือเพียงเล็กน้อยได้ทำการสู้รบต้านทานกับกองทัพโซเวียตในกรุงปรากกระทั่งยอมจำนนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม[247]
ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกาได้รุกเข้าสู่ฟิลิปปินส์ หลังจากได้ชัยในเกาะเลเตเมื่อปลายปี ค.ศ. 1944 จากนั้นก็ยกพลขึ้นบกที่ลูซอน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 และสามารถยึดกรุงมะนิลาคืนได้ในเดือนมีนาคม; การรบบนเกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และเกาะอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม[248] ในเดือนพฤษภาคม กองกำลังออสเตรเลียยกพลขึ้นบกบนเกาะบอร์เนียว และสามารถยึดครองบ่อน้ำมันที่นั่นได้ กองกำลังอังกฤษ อเมริกัน และจีนก็สามารถเอาชนะกองทัพญี่ปุ่นในพม่าตอนเหนือเมื่อเดือนพฤษภาคม และกองทัพอังกฤษรุดหน้าไปถึงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม[249]
กองทัพอเมริกันยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่ญี่ปุ่น สามารถยึดเกาะอิโวะจิมะได้ในเดือนมีนาคม และยึดเกาะโอะกินะวะได้ในเดือนมิถุนายน[250] ในขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ทำลายเมืองต่าง ๆ ของญี่ปุ่น และเรือดำน้ำอเมริกันก็เข้าปิดล้อมเกาะญี่ปุ่น ตัดขาดการนำเข้าจากภายนอก[251]
วันที่ 11 กรกฎาคม บรรดาผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรประชุมที่พ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี ได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมให้การรับรองเกี่ยวกับข้อตกลงต่าง ๆ กับเยอรมนีก่อนหน้านี้[252] และย้ำถึงความจำเป็นของญี่ปุ่นที่จะต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวที่ว่า "ทางเลือกสำหรับญี่ปุ่นคือการทำลายล้างฉับพลันสิ้นซาก"[253] ระหว่างการประชุมนี้ สหราชอาณาจักรจัดการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1945 และคลีเมนต์ แอตลีย์ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแทนวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีคนเดิม[254]
เมื่อญี่ปุ่นได้ปฏิเสธข้อเสนอที่พ็อทซ์ดัม สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกบนแผ่นดินญี่ปุ่นที่ฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ระหว่างการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก สหภาพโซเวียตก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และโจมตีแมนจูเรียของญี่ปุ่น ตามข้อตกลงยัลตา ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นได้ลงนามในตราสารยอมจำนนอย่างเป็นทางการ และเป็นจุดจบของสงครามด้วยเช่นกัน[246]
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้สถาปนาการบริหารยึดครองในออสเตรียและเยอรมนี ออสเตรียนั้นได้กลายมาเป็นรัฐที่เป็นกลางทางการเมือง โดยไม่อิงกับกลุ่มการเมืองใด ๆ ส่วนเยอรมนีนั้นถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครองฝั่งตะวันตกและตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตตามลำดับ โครงการขจัดความเป็นนาซี (Denazification) ในเยอรมนีได้นำไปสู่การฟ้องอาชญากรสงครามนาซีและการปลดอดีตผู้นำนาซีลงจากอำนาจ แต่ต่อมานโยบายนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการนิรโทษกรรมและการยอมรับอดีตนาซีเข้ากับสังคมเยอรมนีตะวันตกอีกครั้ง[255] เยอรมนีสูญเสียพื้นที่ไปหนึ่งในสี่จากพื้นที่เมื่อ ค.ศ. 1937 พื้นที่ทางตะวันออก ได้แก่ ไซลีเชีย นอยมาร์ค และส่วนใหญ่ของพอเมอเรเนียถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์ ปรัสเซียตะวันออกถูกแบ่งระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต ตามด้วยการขับไล่ชาวเยอรมัน 9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เช่นเดียวกับชาวเยอรมัน 3 ล้านคนออกจากซูเดเตนแลนด์ในเชโกสโลวาเกียไปยังเยอรมนี ภายในคริสต์ทศวรรษ 1950 ชาวเยอรมันตะวันตกหนึ่งในห้าคนเป็นผู้ลี้ภัยมาจากทางตะวันออก สหภาพโซเวียตยังได้ยึดครองจังหวัดของโปแลนด์ที่อยู่ทางตะวันออกของเส้นเคอร์ซอน ซึ่งชาวโปแลนด์กว่า 2 ล้านคนถูกขับไล่ออกมาด้วย[256] การยึดครองนี้รวมไปถึงโรมาเนียตะวันออก[257][258] บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก[259] และรัฐบอลติกทั้งสาม[260][261]
ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ด้วยความพยายามที่จะรักษาสันติภาพทั่วโลก[262] โดยมีผลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945[263] และปรับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ. 1948 อันเป็นมาตรฐานสามัญซึ่งทุกชาติสมาชิกจะต้องบรรลุ ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตได้เสื่อมลงตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงแล้ว[264] และชาติอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่ายต่างก็เริ่มสร้างเขตอิทธิพลของตนเองอย่างรวดเร็ว [265] ทวีปยุโรปได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ม่านเหล็ก" ซึ่งได้ลากผ่านประเทศเยอรมนีและประเทศออสเตรีย สหภาพโซเวียตได้สร้างค่ายตะวันออกขึ้น โดยการผนวกดินแดนหลายประเทศซึ่งถูกยึดครองอยู่ในลักษณะของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งเดิมจะต้องผนวกรวมเข้ากับเยอรมนี ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ อย่างเช่น โปแลนด์ตะวันออก[266] รัฐบอลติกทั้งสาม[267][268] บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก[269] และโรมาเนียตะวันออกเฉียงเหนือ[270][271] ส่วนรัฐอื่นที่สหภาพโซเวียตยึดครองในระหว่างสงครามก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนฮังการี[272] สาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวัก[273] สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย สาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย[274] และเยอรมนีตะวันออกภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต[275]
ในทวีปเอเชีย สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดครองญี่ปุ่น และดำเนินการปกครองหมู่เกาะต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองเกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริล ส่วนเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนั้น ก็ถูกแบ่งแยกและถูกยึดครองโดยสองขั้วอำนาจ จากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งพันธมิตรเนโท และทางสหภาพโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น ทั้งสององค์การทางทหารนี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น[276]
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นาน เกิดเหตุการณ์เกาหลีเหนือบุกครองเกาหลีใต้ขึ้น[277] ระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ[278] ซึ่งทึ่สุดแล้วจบลงด้วยการเสมอกันและสัญญาหยุดยิง หลังจากนั้น ผู้นำเกาเหลีเหนือ คิม อิลซอง ได้สร้างรูปแบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก รวมทั้งก่อให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลอันน่าเกรงขาม[279][280]
หลายประเทศซึ่งถูกชาติตะวันตกยึดครองเป็นอาณานิคม ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกมาเป็นจำนวนมาก[281] เนื่องจากความสูญเสียทรัพยากรของชาติตะวันตก ทำให้อิทธิพลจากภายนอกอ่อนแอลง โดยการแยกตัวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างสันติในหลายประเทศ ยกเว้นในเวียดนาม มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย และแอลจีเรีย[282] ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ทำให้เกิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นมามากมาย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและศาสนา การประกาศเอกราชที่โดดเด่นมาก คือ ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ อันนำไปสู่การก่อตั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และในอินเดียก็เกิดการแตกออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน[283]
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองมีความแตกต่างกันในหลากหลายภูมิภาคของโลก และพบว่าในหลายประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทางบวก เช่น เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนอยู่ในสถานะก่อนสงครามได้ในคริสต์ทศวรรษ 1950[284] อิตาลี ซึ่งออกจากสงครามด้วยสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ[285] แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจของอิตาลีก็มีอัตราการเติบโตสูงและมีเสถียรภาพ[286] สหราชอาณาจักรออกจากสงครามด้วยเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน[287] แต่สภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษยังคงถดถอยอีกเป็นเวลากว่าทศวรรษ[288] ฝรั่งเศสก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็วเช่นกัน และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงและมีการดำเนินตามสมัยนิยม[289] สหภาพโซเวียตก็มีอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม[290] และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการเติบโจทางเศรษฐกิจสูงมาก จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980[291] จีน ซึ่งเป็นประเทศล้มละลายจากผลของสงครามกลางเมือง[292] แต่ในปี ค.ศ. 1953 เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว และมีอัตราการผลิตกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนสงคราม[292] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ถดถอยอย่างหนัก[293]
ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ได้เสนอว่าคิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน[294][295][296] สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[297]
จากความสูญเสียร้อยละ 85 เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวโซเวียต) และร้อยละ 15 เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี[298] 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน[299] โดยเหตุการณ์ที่โด่งดัง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่นานกิง[300] โดยสาเหตุที่ตัวเลขความสูญเสียมีความแตกต่างกันมากนั้นมีสาเหตุมาจากว่าการตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้
จำนวนการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นผลมาจากการล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนภายใต้การยึดครองของฝ่ายอักษะ และอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ซึ่งถูกกระทำโดยชาวเยอรมันและชาวญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีของอาชญากรรมสงครามชาวเยอรมัน ได้แก่ ฮอโลคอสต์ ซึ่งเป็นการล้างชาติอย่างเป็นระบบในเขตยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตร โดยนอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มความคิดอื่น ๆ ถูกสังหารอีกเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านคน[301] และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 - 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง[302]
นอกจากนั้น เรื่องของการใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมียังได้ถูกนำมาตัดสินด้วย ทหารอิตาลีได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดในการบุกครองเอธิโอเปีย[303] ส่วนญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง[304][305] และในสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น[306] โดยทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้มีการทดลองอาวุธกับพลเรือนและเชลยสงครามจำนวนมาก[307][308]
ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความในศาลชำระความระหว่างประเทศแห่งแรก[309] แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม[310] ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น การถ่ายเทพลเรือนในสหภาพโซเวียต[311] ค่ายใช้แรงงานของโซเวียต[312] การกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการคีลฮาล (Operation Keelhaul)[313] การขับไล่ชาวเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การข่มขืนระหว่างการยึดครองเยอรมนี การสังหารหมู่คาตินของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ในสงครามยังมีผู้เสียชีวิตเป็นอันมากจากทุพภิกขภัย เช่น ทุพภิกขภัยแคว้นเบงกอล ค.ศ. 1943 และทุพภิกขภัยเวียดนาม ค.ศ. 1944-45[314]
นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่า การทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในเขตพลเรือนในดินแดนข้าศึกของสัมพันธมิตรตะวันตก รวมทั้งโตเกียว และที่โดดเด่นที่สุดคือ นครเดรสเดิน ฮัมบวร์ค และโคโลญของเยอรมนี อันเป็นผลให้นครกว่า 160 แห่งถูกทำลายล้าง และพลเรือนชาวเยอรมันเสียชีวิตกว่า 600,000 คน ควรถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมสงครามด้วย[315]
ฮอโลคอสต์ได้สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่น ๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ สมาคมฟรีเมสัน ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี[316]
นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลักหรือค่ายแรงงานของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมนี และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี[317] จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม[318] ริชาร์ด โอเวรีได้บันทึกตัวเลขเชลยศึกชาวโซเวียตไว้ 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 57% เสียชีวิต คิดเป็น 3.6 ล้านคน[319] เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ (ดูเพิ่ม: คำสั่งหมายเลข 270) [320]
ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%) [321] คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี[322] แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชลยศึกชาวจีน ซึ่งจากคำสั่งที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1937 โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ระบุว่า ชาวจีนไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ[323] หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย[324]
อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน[325] ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่าชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้[326]
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพิร์ลในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันถูกกักตัวโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน
ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่นในโปแลนด์[327] แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในอุบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด[328]
ในทวีปยุโรป ช่วงสงครามเริ่มขึ้นใหม่ ๆ นั้นฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีความได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนประชากรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีประชากรมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% และอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากกว่า 5:1 ในด้านจำนวนประชากรและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 2:1[329]
ในทวีปเอเชีย จีนนั้นมีประชากรเป็นหกเท่าของญี่ปุ่น และมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าญี่ปุ่นไป 89% แต่ถ้าหากรวมเอาอาณานิคมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ความแตกต่างของจำนวนประชากรจะลดลงเหลือเพียงสามเท่าและความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงเหลือ 38%[329]
แม้ความแตกต่างระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีมาก แต่ฝ่ายอักษะก็สามารถตัดกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ด้วยบลิทซครีกของเยอรมนีและญี่ปุ่นหลายครั้ง ทว่าความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและประชากรของฝ่ายสัมพันธมิตรได้กลายมาเป็นปัจจัยแตกหักจนถึง ค.ศ. 1942 หลังสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม โดยสงครามได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามแห่งความสูญเสีย[330] ช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วยการเข้ายึดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ความไม่เต็มใจของเยอรมนีและญี่ปุ่นที่จะเกณฑ์แรงงานสตรี[331][332] และการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสงครามในตอนปลาย[333] เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เตรียมการอย่างเหมาะสมสำหรับสงครามยืดเยื้อและไม่มีขีดความสามารถใด ๆ เลยที่จะทำเช่นนั้น[334][335] เพื่อที่จะเพิ่มการผลิต เยอรมนีและญี่ปุ่นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศที่ตนเองสามารถยึดครองได้มาใช้แรงงานนับล้าน[336] โดยพบว่าเยอรมนีได้มีการใช้แรงงานทาสกว่า 12 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก[337] และญี่ปุ่นได้มีการใช้แรงงานทาสเอเชียตะวันออกไกลกว่า 18 ล้านคน[338]
ในทวีปยุโรป การยึดครองแบ่งออกเป็นสองประเภท สำหรับยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และยุโรปกลาง เยอรมนีได้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งได้ผลตอบแทนกว่า 69.5 ล้านล้านไรช์มาร์กจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ซึ่งยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยุทโธปกรณ์ทางทหาร วัตถุดิบและสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเรียกกันว่า การปล้นของนาซี (Nazi plunder)[339] รายได้ของนาซีเยอรมนีในดินแดนยึดครองนั้นคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของรายได้จากภาษีในแผ่นดินเยอรมนี และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดของเยอรมนีในช่วงระหว่างสงคราม[340]
ส่วนทางยุโรปตะวันออก ซึ่งคนทั้งหลายต่างก็หวังต่อผลประโยชน์จากนโยบายแสวงหาพื้นที่อยู่อาศัยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแนวรบซึ่งไม่แน่นอน และผลจากนโยบาย "สกอชท์เอิร์ธ" ของโซเวียต ซึ่งเป็นการปฏิเสธมิให้ทรัพยากรทั้งหลายตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวเยอรมัน[341] ไม่เหมือนกับทางยุโรปตะวันตก นโยบายเชื้อชาติของพรรคนาซีนั้นได้ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ กับ "ชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์" ในแนวรบด้านตะวันออก จึงเต็มไปด้วยการฆาตกรรมและการสังหารหมู่[342] และถึงแม้ว่าจะมีขบวนการกู้ขาติเกิดขึ้นมากมายในประเทศที่ถูกยึดครอง แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของนาซีเยอรมนีได้ กระทั่งปลาย ค.ศ. 1943[343][344]
ในเอเชีย ญี่ปุ่นพยายามสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้น และมีจุดประสงค์ที่จะครองความเป็นใหญ่ โดยอ้างการปลดปล่อยชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติอภิมหาอำนาจในทวีปยุโรป[345] ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการต้อนรับจากนักต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายดินแดน แต่ว่าเนื่องจากการกระทำที่โหดร้ายได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อญี่ปุ่นไปเสียภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์[346] ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงแรกนั้นได้รับน้ำมันกว่า 4 ล้านแกลลอนจากการล่าถอยของฝ่ายสัมพันธมิตร และใน ค.ศ. 1943 ญี่ปุ่นได้ผลผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์กว่า 50 ล้านแกลลอน กว่าร้อยละ 76 ของอัตราการผลิตของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1940[346]
ระหว่างสงคราม อากาศยานยังคงดำรงบทบาทของตนทั้งในการลาดตระเวนสำรวจ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และการสนับสนุนภาคพื้นดินมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าอากาศยานทั้งหลายจะได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว บทบาทที่สำคัญของอากาศยานอีกสองประการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ เป็นความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเสบียง เครื่องยุทธภัณฑ์และหน่วยทหารได้อย่างรวดเร็วตามลำดับความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณที่รองรับได้ต่ำอยู่ก็ตาม[347] และการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนด้วยความหวังที่จะทำลายอุตสาหกรรมและขวัญกำลังใจของข้าศึก[348] อาวุธต่อสู้อากาศยานเองก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยที่สำคัญ เช่น เรดาร์ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างสูง อย่างเช่น ปืนใหญ่ 88 มม. ของเยอรมนี อากาศยานเจตก็ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในการออกปฏิบัติการจำนวนหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และถึงแม้ว่าอากาศยานเจตจะถูกนำเข้าสู่สงครามในตอนปลาย และปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อย หมายความว่าพวกมันไม่มีผลกระทบต่อสงครามโดยตรงด้วยตัวเอง และจำนวนน้อยถูกพบเห็นในการบริการขนส่งขนาดใหญ่หลังจากสงคราม[349]
ส่วนในทะเล ในขณะที่การพัฒนาเกิดขึ้นในการทำสงครามทางทะเลในเกือบทุกรูปแบบ แต่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำ ถึงแม้ว่าในตอนต้นของสงคราม การทำสงครามการบินประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม[350] แต่ปฏิบัติการในตารันโต อ่าวเพิร์ล ทะเลจีนใต้ และทะเลคอรัล ได้ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินก้าวขึ้นมากมีบทบาทสำคัญแทนที่เรือประจัญบาน[351][352] ในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือบรรทุกเครื่องบินถูกพิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบกองเรือคุ้มกันฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประสิทธิภาพรัศมีในการป้องกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีส่วนช่วยในการอุดช่องว่างแอตแลนติกตอนกลาง[353] นอกเหนือจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินยังประหยัดกว่าเรือประจัญบานเนื่องจากเครื่องบินมีราคาต่ำ[354] และลำเรือไม่จำเป็นจะต้องหุ้มเกราะหนา[355] เรือดำน่ำ ซึ่งถูกพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[356] ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยทุกฝ่ายว่าจะมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายอังกฤษมุ่งเน้นไปยังอุปกรณ์และยุทธวิธีในการต่อสู้เรือดำน้ำ อย่างเช่น โซนาร์ และระบบกองเรือคุ้มกัน ในขณะที่เยอรมนีมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาความสามารถในการรุก ด้วยการออกแบบเรือดำน้ำไทป์ 7 และยุทธวิธีฝูงหมาป่า[357] และการพัฒนาเทคโนโลยีของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างช้า ๆ ก็ได้พิสูจน์ถึงชัยชนะ
ส่วนรูปแบบการรบภาคพื้นดินได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแนวรบอยู่กับที่ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นการรบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแนวคิดมาจากรูปแบบการทำสงครามระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างคุณสมบัติของกองกำลังทหารที่หลากหลาย รถถัง ซึ่งถูกใช้สนับสนุนทหารราบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานของกองกำลังทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง[358] ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 การออกแบบรถถังได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในทุกด้าน เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[359] และยังได้มีการพัฒนาความเร็ว เกราะและกำลังยิงที่เพิ่มมากขึ้น ยังได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระหว่างสงคราม ในช่วงแรกของสงคราม กองทัพส่วนใหญ่พิจารณาว่ารถถังเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้รถถังด้วยกัน จึงได้พัฒนารถถังที่มีจุดประสงค์พิเศษขึ้นเพื่อบรรลุผลนั้น[360] แต่แนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าผิดในการปฏิบัติของรถถังค่อนข้างเบาในช่วงแรกในการต่อกรกับรถถัง และหลักนิยมของเยอรมันในการหลีกเลี่ยงการรบแบบรถถังต่อรถถัง และอีกปัจจัยนหนึ่ง จากการใช้กองกำลังผสมของเยอรมนี อันเป็นปัจจัยหลักของยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในโปแลนด์และฝรั่งเศส[358] และปรากฏหลายวิธีในการทำลายรถถัง รวมทั้งปืนใหญ่ทางอ้อม ปืนต่อสู้รถถัง ทุ่นระเบิด อาวุธพิสัยใกล้ต่อสู้รถถังสำหรับทหารราบ และการใช้รถถังได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์[360] แม้กระทั่งในหลายกองทัพจะได้มีการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอย่างกว้างขวาง แต่ทหารราบก็ยังคงเป็นกระดูกสันหลังสำหรับกองกำลังทั้งหมด[361] และตลอดช่วงเวลาของสงคราม ยุทธภัณฑ์ของทหารราบส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับที่เคยใช้ประโยชน์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[362]
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีการใช้ปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติเป็นประเทศแรก ซึ่งก็คือ เอ็ม-1 กาแรนด์ นอกจากนี้ การพัฒนาบางประการยังเกี่ยวกับปืนกลพกพาได้ ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น เอ็มจี 42 ของเยอรมนี และปืนกลมืออีกหลายประเภท ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการรบในเมืองและในป่า[362] ปืนเล็กยาวจู่โจม ซึ่งเป็นพัฒนาการในตอนปลายของสงคราม เป็นการรวมข้อดีของปืนเล็กยาวและปืนกลมือเข้าไว้ด้วยกัน และได้กลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานสำหรับทหารราบในเกือบทุกกองทัพหลังสงคราม
ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาของความซับซ้อนและการรักษาความปลอดภัย โดยการใช้ประโยชน์จากคู่มือลงรหัสขนาดใหญ่สำหรับวิทยาการเข้ารหัส ประกอบกับการสร้างเครื่องรหัสขึ้นมาหลายแบบ ซึ่งที่เป็นรู้จักกันกว้างขวางที่สุด ได้แก่ เครื่องอินิกมาของเยอรมนี[363] ข่าวกรองทางสัญญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการตอบโต้เครื่องถอดรหัส ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ อัลตราของอังกฤษ และการถอดรหัสกองทัพเรือญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร[364] ส่วนอีกทิศทางหนึ่งที่สำคัญของข่าวกรองทางทหาร ได้แก่ การใช้ปฏิบัติการการหลอกลวง ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประสบความสำเร็จในหลายโอกาสจนได้ผลดี อย่างเช่น ปฏิบัติการเนื้อสับและปฏิบัติการบอดีการ์ด[364][365] นอกจากนี้ ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมยังได้แก่ คอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถโปรแกรมได้เป็นครั้งแรก (แซด 3 คอมพิวเตอร์โคลอสซัสและอีนิแอก) ขีปนาวุธนำวิถี และจรวดสมัยใหม่ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นผลมาจากโครงการแมนฮัตตัน การสร้างท่าเรือประดิษฐ์ และการสร้างท่อน้ำมันลอดผ่านช่องแคบอังกฤษ[366]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.